แนะนำมหาบาลีวิชชาลัย
คณะที่ปรึกษา
ประธานบริหารมหาบาลีวิชชาลัย
คณาจารย์มหาบาลีวิชชาลัย
คณะผู้บริหารมหาบาลีวิชชาลัย
แผนผังมหาบาลีวิชชาลัย
มหาบาลีครุ
รางวัลมหาบาลีวิชชาลัย
อาสาสมัครมหาบาลีวิชชาลัย
บริการทางวิชาการภาษาบาลี
About Mahapali Vijjalaya
สำนักจดหมายเหตุเปรียญธรรม
ตอบคำถาม ไม่มีคำว่า "ภาษาบาลี" ในพระไตรปิฎก
ไม่มีคำว่า "ภาษาบาลี" ในพระไตรปิฎก (ตอบคำถามที่มีคนถามมา)
ถาม
สืบค้นดูแล้ว ไม่มีคำว่า "ภาษาบาลี" ในพระไตรปิฎก หรือข้อมูลทางประวัติศาสตร์อินเดียในยุคพุทธกาลเลย แล้วทำไมในประเทศไทยทุกวันนี้ จึงเรียกว่า ภาษาบาลี
ตอบ
ขอเล่าความทั่วไปก่อน
ก่อนยุคพระพุทธเจ้า ชมพูทวีปหรืออินเดียทุกวันนี้มีหลายชนชาติหลายเผ่าพันธุ์และมีภาษาพูดภาษาเขียนมากมายในยุคพระพุทธเจ้า พระองค์ประสูติและอาศัยอยู่ในเขตภาคเหนือของอินเดียทุกวันนี้ คือ แคว้นมคธ โกศล เป็นหลัก ซึ่ง 2 แคว้นนี้เป็นรัฐใหญ่ มีหลายภาษาพูดเช่นกัน
พระพุทธเจ้าตรัสได้หลายภาษา ไปเมืองไหน ก็คงตรัสภาษาพื้นเมืองแห่งนั้น ๆ สื่อสารกับชาวบ้านได้แบบสบาย ๆ และภาษาที่ใช้กันเป็นส่วนมากในมคธ คงเป็นภาษาพื้น ๆ บ้าน ๆ ที่ชาวบ้านทั่วไปพูดคุยกัน ภาษานี้คงใช้กันแพร่หลายในเขตแดนเมืองมคธและใกล้เคียง คนสมัยโน้น จะเรียกภาษานี้ว่า ภาษาอะไร ยากจะบอกได้ แต่คนยุคหลังในสมัยต่อมาเรียกว่า
ภาษามาคธี ภาษามคธ คือ ภาษาที่พูดกันในดินแดนมคธ
ในการทำสังคายนาครั้งที่ 1 หลังการเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานของพระพุทธเจ้า 3 เดือน พระสงฆ์นำโดยพระเถระผู้ใหญ่คือพระมหากัสสปะเถระ ได้ประชุมสงฆ์มาร่วมกันสรุปและทบทวนสอบทานคำสอนของพระพุทธเจ้าให้ตรงกันว่า พระพุทธเจ้าสอนอะไรไว้บ้าง (ขณะนั้นคำสอนของพระพุทธเจ้าจะเรียกกันว่า พระธรรมวินัย ยังไม่เรียกว่า พระไตรปิฎก)
สังคายนาครั้งนี้ ทำที่ถ้ำสัตตบรรณคูหาบนภูเขาในเมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ (ใช้เวลาสอบทานทบทวนกันถึง 7 เดือนจึงเสร็จสมบูรณ์)แล้วก็ช่วยกันจำไว้ในรูปแบบที่เรียกว่า
มุขปาฐะ
(จำด้วยใจและกล่าวเป็นเสียงออกมาทางปากอย่างคล่องแคล่วและแม่นยำ)
ภาษาที่ใช้ตรวจทานและจดจำคำสอนของพระพุทธเจ้าในสังคายนาครั้งนี้ ไม่น่าจะเป็นภาษาอื่น นอกจากภาษาของแคว้นมคธ (แต่เราจะระบุว่า ภาษาอะไรแน่ก็คงยาก จึงเดาและเรียกรวมไปว่าเป็น ภาษามคธ คงไม่ใช่ภาษานอกเมืองมคธ)
หลังเสร็จสิ้นการสังคายนาครั้งนี้ พระสงฆ์ได้แบ่งกลุ่มช่วยกันจำคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นคณะ ๆ เรียกว่า คณภาณกะ (กลุ่มนักท่อง/นักสวด) คือแบ่งพระเป็นกลุ่ม ๆ ตามสายครูอาจารย์ของตน ให้ช่วยกันจำคำสอนของพระพุทธเจ้าไว้และนำไปสอนต่อ ๆ กันไปแบบปากต่อปาก เช่น คณะนี้มี 500 รูปนี้ ต้องท่องจำคำสอนของพระพุทธเจ้าให้ได้ 200 สูตร คณะนี้ 500 รูป ให้ทรงจำคำสอนให้ได้สัก 300 สูตร เป็นต้น (คงมีการประชุมสงฆ์แต่ละคณะมานั่งทบทวนสอบทานกันอยู่บ่อย ๆ เป็นระยะ ๆ เป็นปกติทุก ๆ ปี/แต่เราไม่เห็นหลักฐานเอกสารประวัติศาสตร์ในเรื่องนี้)
ภาษาที่ใช้จำคำสอนของพระพุทธเจ้าไว้หลังสังคายนาครั้งที่ 1 นี้ เชื่อว่า คงจะมีการปรับถ้อยคำสำนวนพอสมควร เพื่อให้กระชับ จำได้ง่าย ส่งต่อกันได้ง่ายด้วย คงจะตัดคำที่เป็นภาษาพูดภาษาตลาดทั่วไปที่รู้สึกรก ๆ ออกจำนวนไม่น้อย (การปรับเปลี่ยนถ้อยคำสำนวนตรงนี้ อาจจะบอกได้ว่า เริ่มจะเป็นไวยากรณ์ภาษาขึ้นมาบ้างแล้ว คือมีการปรับระบบภาษา ปรับคำเพื่อให้จำได้ง่าย ส่งต่อให้คนรุ่นต่อไปได้ง่าย (แนะนำให้ลองไปอ่านและฝึกจำพระสูตรต่าง ๆ เช่น ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร อาทิตตปริยายสูตร อนัตตลักขณสูตร เป็นต้น จะเห็นว่าในพระสูตรต่าง ๆ คำบาลีจะเป็นประโยคง่าย ๆ ใช้คำซ้ำ ๆ ไม่ซับซ้อน ทั้งนี้เพื่อให้จำได้ง่าย สอบทานกันได้ง่าย แต่ก็ยังไม่มีสิ่งที่เรียกว่า ตำราไวยากรณ์บาลีเกิดขึ้นในช่วงนี้ เพราะคนยุคนี้รู้ภาษานี้ดีอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องมีตำรามาอธิบายระเบียบการใช้ภาษาใด ๆ)
ต่อมามีการทำสังคายนาครั้งที่ 2 (ราวปี พ.ศ.100 กว่า ๆ) และมีการสังคายนาครั้งที่ 3 (ประมาณปี พ.ศ.200-300) ที่จัดขึ้นในอินเดีย
ผลจากการทำสังคายนาครั้งที่ 3 เสร็จสิ้น
พระสงฆ์เริ่มแยกสำนักกันแบบเด็ดขาด (ไม่ทำสังฆกรรมร่วมกัน) (คนที่มาบวชในพระพุทธศาสนามาจากหลายสาย หลายพื้นเพ หลายวรรณะ หลายเมือง หลายภาษาพูด และพระสงฆ์ที่มีพื้นเพเดิมเป็นพราหมณ์ เป็นปราชญ์ที่เก่งภาษาสันสกฤตก็มีมาก) มีพระสงฆ์กลุ่มใหญ่บางกลุ่ม
(เอกสารฝ่ายบาลีเราเรียกว่า มหาสังฆิกะ)
รวมกลุ่มกันทำสังคายนาขึ้นเองต่างหาก (บางเอกสารนับเป็นครั้งที่ 4 ในอินเดีย) และตกลงกันเขียนคำสอนของพระพุทธเจ้าไว้ด้วยภาษาสันสกฤต สอน อธิบายคำสอนของพระพุทธเจ้าด้วยภาษาสันสกฤต (ซึ่งเป็นภาษาในคัมภีร์พระเวทของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู แต่คงมีการปรับปรุงสำนวนและรูปแบบคำศัพท์ต่าง ๆ เช่นกัน คงไม่ใช่เหมือนภาษาสันสกฤตแบบคัมภีร์พระเวททั้งหมด) กลุ่มสงฆ์มหาสังฆิกะได้จารึกคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นภาษาสันสกฤตลงใบลานและได้จารึกไว้ในแผ่นทองคำด้วย
(ในสมัยพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์ชีพอยู่ มีกลุ่มพระภิกษุที่มีพื้นเพเป็นพราหมณ์เชี่ยวชาญภาษาสันสกฤต ทูลขออนุญาตพระพุทธเจ้าเพื่อจะสอนชาวบ้านด้วยภาษาสันสกฤต เพราะรู้สึกว่า เท่ ขลัง อลังการ และศักดิ์สิทธิ์ แต่พระพุทธเจ้าไม่ทรงอนุญาต เพราะสันสกฤตเป็นภาษาที่จารึกคัมภีร์ของพราหมณ์ กลุ่มพราหมณ์ถือว่าเป็นของสูงสงวนไว้เฉพาะวรรณะตนเอง มีข้อห้ามสำหรับคนทั่วไปในการเรียนรู้ ถ้อยคำภาษาสันสกฤตเข้าใจยาก ออกเสียงไม่ง่ายนัก ชาวบ้านไม่ได้ใช้สื่อสารกันในชีวิตประจำวัน พระพุทธเจ้าตรัสให้สอนธรรมะของพระองค์ด้วยภาษาของชาวบ้าน ภาษาธรรมดา ๆ ภาษาท้องถิ่นของชาวบ้านเท่านั้น ห้ามใช้ภาษาสันสกฤตสอน ถ้าพระภิกษุรูปใดสอนเป็นสันสกฤต ปรับอาบัติ (พระองค์คงเกรงว่าชาวบ้านจะสับสนและเข้าใจยาก จะทำให้คำสอนของพระองค์ไม่แพร่หลาย และพระองค์ไม่ต้องการให้มีระบบถือวรรณะในสังคมอินเดียด้วย)
กลุ่มพระภิกษุมหาสังฆิกะใช้อักษรอะไรเขียนคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นสันสกฤตในการสังคายนาครั้งนี้ ยากจะบอกได้ เดาเอาว่า น่าจะเป็นอักษรพราหมี อักษรเทวนาครี หรืออักษรโบราณอื่น ๆ ที่เราไม่พบในปัจจุบันนี้แล้ว เพราะปรับเปลี่ยนรูปแบบหรือสูญหายไปหมดแล้ว (แต่ถ้าค้นพบแผ่นทองคำที่ใช้จารึกคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ว่านี้ได้ น่าจะได้คำตอบที่ชัดเจนขึ้น)
คณะสงฆ์มหาสังฆิกะกลุ่มนี้เองที่นำมาสู่การเกิดเป็นนิกายใหญ่ ที่เรียกว่า มหายาน และนิกายย่อยอื่น ๆ ในทิเบต จีน ญี่ปุ่น ฯลฯ ในสมัยต่อมาจนถึงทุกวันนี้
ลังกา
เกาะลังกา ศรีลังกา สีหฬ หรือ สิงหล ได้รับพระพุทธศาสนานับแต่เสร็จสิ้นการสังคายนาครั้งที่ 3 (ที่มีการส่งพระภิกษุไปเผยแผ่ศาสนาหลายสาย รวมถึงสายที่มาทางไทย มอญ พม่า ด้วย) (คิดว่า น่าจะมีพระภิกษุเดินทางไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่ลังกาก่อนหน้านั้นบ้างแล้ว แต่อาจจะยังไม่ประสบผลสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่พอ จึงไม่มีการจดเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ไว้ หรือมีการจดไว้ แต่เอกสารสูญหายไปหมดแล้ว)
ในลังกา มีการทำสังคายนาหลายครั้ง เมื่อมีการจัดทำสังคายนาครั้งที่ 2 ราวปี พ.ศ. 400 กว่า ๆ พระสงฆ์สมัยนั้นได้ตกลงกันว่า ให้มีการจารึกคำสอนของพระพุทธเจ้าลงสื่อวัสดุภายนอกอื่น ๆ เช่น ใบลาน แผ่นหิน แผ่นกระดาน ไม่ควรใช้วิธีแบบมุขปาฐะเพียงอย่างเดียวอีกแล้ว เพราะท่านมองไปถึงกาลไกลข้างหน้าว่า ในอนาคต (ยุคพวกเรานี้เอง) จะหาคนที่จะทรงจำคำสอนของพระพุทธเจ้าไว้ได้แบบไม่ผิดพลาดได้ยาก อาจพากันจำผิด ๆ และส่งต่อข้อมูลคำสอนให้กันแบบผิด ๆ เพี้ยน ๆ ได้ นับแต่นั้นมา เราจึงได้รับรู้กันว่า คำสอนของพระพุทธเจ้าต้นฉบับที่นำสืบต่อกันมาจากการสังคายานาครั้งที่ 1 ได้รับการเขียนลงวัสดุต่าง ๆ เช่น ใบลาน (ในครั้งนี้ ตัวอักษรคงเป็นอักษรสีหฬโบราณ) และภาษาที่จารึกนี้เป็นภาษาบาลีพระไตรปิฎกตามที่เรารู้จักกันทุกวันนี้นี่เอง
ประเทศไทย
ประเทศไทย ได้รับพระพุทธศาสนาจากหลายทางและรับเข้ามาหลายรอบ เข้ามาทางเมืองมอญก็หลายรอบ (หัวเมืองชายทะเลฝั่งอันดามัน เช่น มะริด ทวาย ตะนาวศรี เมาะตะมะ เมาะลำเลิง) ทางภาคใต้สุดก็หลายรอบ เข้ามาทางอ่าวไทย ราชบุรี อู่ทอง ก็มี เข้ามาทางพม่าล้านนา ก็มี และไทยเราก็ได้รับจากทางเขมร,จามปา (เวียตนามใต้) และลาวด้วย (ลาวรับพระพุทธศาสนาต่อจากเขมรและจามปาอีกที ยุคหลังมาลาวก็รับจากล้านนาและจากไทยด้วย) สรุปคือประเทศไทยรับพระพุทธศาสนาเข้ามาหลายทางหลายรอบ รับเรื่อย ๆ จนมามีหลักฐานชัดขึ้นในยุคสุโขทัยว่าต้นแหล่งมาจากลังกา
แต่ก่อนหน้านั้น เชื่อว่า เราได้รับคติธรรมเนียมและสันสกฤตของพราหมณ์มาหลายรอบแล้วเช่นกัน และพระพุทธศาสนาแบบมหายานที่ใช้สันสกฤต ก็น่าจะเข้ามาในดินแดนไทยไล่เลี่ยกันกับแบบเถรวาท หรือบางทีพระพุทธศาสนาแบบมหายานอาจมาล่วงหน้าก่อนแล้วด้วยตั้งแต่เกิดคณะมหาสังฆิกะ เพียงแต่ได้รับความนิยมน้อยและมีระยะเวลาสั้น ๆ เท่านั้น (ลองศึกษาตำนานมูลสาสนา สำนวนล้านนา-แปล โดยเฉพาะช่วงที่กล่าวถึงคณะสงฆ์วัดป่าแดงมหาวิหาร กับ วัดสวนดอก เชียงใหม่ จะเห็นร่องรอยนี้ /แม้เหตุการณ์นี้จะเป็นเรื่องระยะหลังก็ตาม)
เขมร
ดินแดนเขมรนั้น พราหมณ์เข้ามานานมากแล้ว และใช้สันสกฤตเป็นภาษาพิธีกรรมต่าง ๆ คนเขมรจึงรู้สันสกฤตดีและถ่ายทอดมาถึงคนไทยผ่านคติการปกครองแบบระบบเทวราชาด้วย ผ่านการติดต่อค้าขายและการแต่งงานระหว่างกันด้วย
คนไทย
(กลุ่มชนที่ผสมผสานกันหลายเชื้อชาติในแผ่นดินที่เรียกว่าประเทศไทยทุกวันนี้) จึงรับคติพราหมณ์และสันสกฤตไว้ตั้งแต่สมัยที่ยังไม่มีอาณาจักรเด่น ๆ แบบอาณาจักรสุโขทัย (ตามแบบเรียนประวัติศาสตร์ไทยปัจจุบัน)
พิจารณาคำแปลบาลีเป็นภาษาไทย
เมื่อพิจารณาดูการสะสมคำพูดและภาษาของคนในแผ่นดินนี้ เราจะเห็นว่า คนในดินแดนไทยนี้รับคติพราหมณ์และสันสกฤตมาก่อนนานแล้วและใช้คำภาษาสันสกฤตปะปนอยู่ในชีวิตประจำวันจนกลายเป็นความเคยชินเป็นปกติธรรมดาอยู่แล้ว ดังนั้น เมื่อพระพุทธศาสนาเถรวาทและบาลีเข้ามาในภายหลัง เวลาคนไทยครั้งกระโน้นแปลภาษาบาลีเป็นภาษาไทย หลาย ๆ คำ จึงแปลออกเป็นคำสันกฤต (ที่กลายเป็นไทยแล้ว) ไม่ได้แปลเป็นคำภาษาไทยแท้ ๆ ทั้งนี้เพราะคำสันสกฤตเป็นคำที่คนที่รู้จักกันดีอยู่ก่อนแล้วในสมัยโน้นนั่นเอง เช่น แปล
สตฺถา
ว่า
พระศาสดา
แปล
รตฺติ
ว่า
ราตรี
แปล
อิตฺถี
ว่า
สตรี
แปล
ภิกฺขุนี
ว่า
ภิกษุณี
แปล
อจฺฉรา
ว่า
อัปสร
แปล
รํสิ
ว่า
รัสมี
แปล
ขตฺติย
ว่า
กษัตริย์ ฯลฯ
ซึ่งคำแปลพวกนี้ล้วนเป็นภาษาสันสกฤตหรือดัดแปลงมาจากสันสกฤต ถ้าคนไทยไม่คุ้นชินกับสันสกฤตมาก่อน จะแปลเป็นสันสกฤตไม่ได้ ถึงแปลไปก็จะไม่เข้าใจความหมายดีพอ
ย้อนไปที่เกาะลังกา
เมื่อคำสอนของพระพุทธเจ้าได้รับการเขียนลงวัสดุเช่น ใบลาน แผ่นหิน ผืนผ้า หนังสัตว์ ฝาผนังต่าง ๆ และเผยแพร่ไปยังดินแดนต่าง ๆ แล้ว ก็มีปัญหาสำหรับคนต่างเมืองที่ไม่ได้พูดภาษาแบบนี้มาก่อน ยากที่จะเข้าใจคำสอนของพระพุทธเจ้าได้ พระสงฆ์รุ่นต่อ ๆ มาซึ่งส่วนมากเป็นชาวลังกา (ในราวปี พ.ศ. 900-1100 เป็นต้นมา) จึงคิดว่า ทำอย่างไรจะช่วยให้คนในท้องถิ่นอ่านพระไตรปิฎกและคัมภีร์อธิบายพระไตรปิฎกต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น ทำอย่างไรให้ชาวพุทธมีความรู้ในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาได้ดีขึ้น ท่านจึงทำตำราประเภท "ไวยากรณ์" ขึ้นมา ตำราบาลีไวยากรณ์จึงเกิดขึ้นในยุคนี้
เนื่องจากภาษาสันสกฤตมีมานานแล้ว และมีการพัฒนาระบบไวยากรณ์ของภาษาตัวเองไว้ดีมากจนเป็นที่แพร่หลายอยู่แล้วในขณะนั้น พระภิกษุที่ทำตำราไวยากรณ์บาลีก็เรียนรู้สันสกฤตมาเป็นอย่างดี ดังนั้น จึงได้รับอิทธิพลและนำหลักการหลายอย่างจากไวยากรณ์สันสกฤตมาใช้ (แต่ไม่ได้นำมาทั้งหมด) คือนำมาบางอย่างแล้วพัฒนาปรับให้เป็นไวยากรณ์ในแบบเฉพาะของตน เพื่อให้เพียงพอสำหรับการจะเรียนรู้บาลีคือคำสอนของพระพุทธเจ้าได้ (ชินวจนยุตฺตํ หิ=กฎเกณฑ์ทางภาษาที่เหมาะควรกับพระพุทธดำรัส/อันนี้เป็นสูตร ๆ หนึ่งในคัมภีร์ไวยากรณ์กัจจายนะ)
เรื่องอิทธิพลจากสันสกฤตสู่บาลีนี้ พิจารณาได้จากเรื่องตำราไวยากรณ์บาลีประเภทมีสูตร เช่น สูตรบาลีไวยากรณ์ในกัจจายนะ หลายสูตรตรงกับสันสกฤตเลย แต่ปรับเป็นคำบาลีเท่านั้น (ถ้าไม่มีสูตรสันสกฤตให้รู้เห็นมาก่อน จะทำสูตรไวยากรณ์บาลีให้ตรงสูตรไวยากรณ์สันสกฤตแบบตรงกันเป๊ะ ๆ คงเป็นไปได้ยากมาก)
ปัจจุบัน เรายังค้นหาตำราไวยากรณ์บาลีแบบสันสกฤตเพื่ออธิบายพระไตรปิฎกของพระสงฆ์กลุ่มมหาสังฆิกะ (ที่พัฒนาต่อมาเป็นมหายาน) เมื่อครั้งหลังสังคายนาครั้งที่ 3 ไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากพบต้นฉบับที่จารึกลงแผ่นทองคำ เราอาจได้ข้อสรุปว่า สูตรไวยากรณ์ภาษาบาลีทุกวันนี้ เราเอาแบบอย่างมาจากไวยากรณ์สันสกฤตแท้ ๆ หรือว่าเอามาจากไวยากรณ์บาลีแบบสันสกฤตที่พระสงฆ์พุทธมหายานยุคนั้นท่านทำไว้หรือว่าผสมผสานนำมาจากสองแหล่ง
ไวยากรณ์บาลีเล่มแรก
ตำราไวยากรณ์บาลีเล่มแรกคือคัมภีร์อะไร ไม่อาจระบุชัดได้ บางท่านก็ว่า นิรุตติปิฎก และมหานิรุตติ จูฬนิรุตติ น่าจะเป็นฉบับแรก ๆ แต่หาต้นฉบับไม่ได้ บางทีอาจมีตำราไวยากรณ์อื่นที่เราไม่รู้จักชื่อที่ใช้เรียน ท่องจำและสอนกันในบางวัดโดยที่ไม่ได้เขียนลงวัสดุใบลานหรือเขียนลงใบลานเหมือนกัน แต่หมดสภาพไป ไม่แพร่หลาย ไม่โด่งดังพอก็เป็นได้
สำหรับตำราไวยากรณ์บาลีเล่มที่รู้จักกันแพร่หลายเป็นอย่างดีเล่มแรก ๆ และยังคงมีอยู่มาจนกระทั่งทุกวันนี้ คือ
ตำราไวยากรณ์บาลีชื่อกัจจายนะ
ซึ่งผู้แต่งน่าจะเป็นพระภิกษุชาวอินเดียหรือลังกาที่รู้บาลีและภาษาสันสกฤตเป็นอย่างดี ท่านสร้างตำรานี้ขึ้นมาเพื่อใช้สอนคนในท้องถิ่นให้มีพื้นความรู้ทางภาษาจนพอจะเข้าใจพระไตรปิฎกได้แบบง่าย ๆ
คนไทยนำเข้าตำรานี้ นำมาจัดเรียงลำดับเนื้อหาใหม่ และเรียกตำรานี้ว่า
มูลกัจจายน์
หรือ
กัจจายนมูล
ที่คนในดินแดนไทยนี้เรียนรู้กันตั้งแต่ยุคก่อนมีอาณาจักรสุโขทัย ล้านนา อยุธยา สืบเรื่อยมาจนถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้นในรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6
ไวยากรณ์บาลีแบบมีสูตร
ไวยากรณ์บาลีดั้งเดิม เช่น ไวยากรณ์กัจจายนะ ท่านจะทำเป็นสูตรสั้น ๆ ไว้ แล้วค่อยขยายความกันเมื่อเรียนกับครูอาจารย์ จึงเรียกไวยากรณ์แบบนี้ว่า
ไวยากรณ์บาลีแบบมีสูตร
ตัวอย่างสูตรไวยากรณ์กัจจายนะ เช่นสูตรที่ 1 ว่า
อตฺโถ อกฺขรสญฺญาโต
แปลว่า สิ่งต่าง ๆ ในโลกนี้ คนเราจะสื่อสารรู้ความกันได้ ก็โดยอาศัยเครื่องมือสำคัญคือ อักษร (อักษรนี้ แปลว่า เสียงหรือตัวหนังสือก็ได้)
ทำไมจึงสร้าง"สูตรไวยากรณ์บาลี" ขึ้นมา
สูตรทางไวยากรณ์ จะมีลักษณะเป็นคำสั้น ๆ ย่อ ๆ แต่อมความไว้ได้อย่างกว้างขวางและชัดเจนเหตุผลที่สร้างสูตรไวยากรณ์บาลีขึ้นมา เพื่อประหยัดเวลาในการศึกษา เพราะสมัยโบราณ เครื่องเขียน สื่อบันทึกที่คงทนถาวร เช่น ใบลาน ทำยาก หายาก จึงต้องคิดสร้างสูตรสั้น ๆ เน้นให้กระชับ (เสียงในสูตร ถ้าทำให้เป็นเสียงสอดคล้องกันได้ยิ่งดี) เพื่อให้จำกันได้ง่าย ถ่ายทอดกันได้ง่าย แล้วขยายความกันอีกทีเมื่อมีการเรียนการสอน
ผู้สร้างสูตรไวยากรณ์ได้ ต้องเป็นผู้ที่รู้ภาษาอย่างลึกซึ้งและกว้างขวาง จึงจะสามารถกลั่นหัวใจสำคัญของเนื้อหาทั้งหมดแล้วสรุปย่อเป็นสูตรสั้น ๆ ได้
ตรงนี้ให้เรานึกเปรียบเทียบกับสิ่งที่เรียกว่า “หัวใจ” นี่นั่น ที่คนไทยนิยมทำกันทุกวันนี้ เช่น หัวใจพระอภิธรรม เราก็ย่อเป็น สัง วิ ธา ปุ กะ ยะ ปะ) ซึ่งเป็นคำย่อของคัมภีร์พระอภิธรรม สูตรไวยากรณ์บาลีก็เช่นกัน ใช้คำย่อ ๆ สั้น ๆ แต่กินความได้กว้างขวาง ครอบคลุม และชัดเจนเพียงพอ
ยุคต่อมา ในราวปี พ.ศ. 1600-1800 มีการพัฒนาไวยากรณ์บาลีขึ้นมาอีกเล่มหนึ่ง ชื่อ
โมคคัลลานะ
โดยพระภิกษุลังกา ไวยากรณ์โมคคัลลานะ นำระบบ วิธีการและการอธิบายไวยากรณ์มาจากสันสกฤตค่อนข้างมาก มากยิ่งกว่าไวยากรณ์กัจจายนะ แต่การอธิบายตามแนวทางของโมคคัลลานะช่วยให้ความกระจ่างแจ้งได้อย่างมีเหตุมีผลที่หมาะสมในหลาย ๆ เรื่องที่คัมภีร์ไวยากรณ์กัจจายนะยังทำได้ไม่ชัดเจนพอ
ในช่วงปี พ.ศ. 1700-1800 พระภิกษุชาวพม่า ได้พัฒนาตำราไวยากรณ์บาลีขึ้นมาใหม่เล่มหนึ่ง เรียกชื่อว่า
สัททนีติ
ซึ่งกล่าวกันว่า เป็นไวยากรณ์บาลีที่ใหญ่ที่สุด ครบถ้วน และสมบูรณ์ที่สุด (เมื่อเทียบกับ 2 ตำราไวยากรณ์สองเล่มก่อนหน้านี้) บางสูตรก็เหมือนกับไวยากรณ์เล่มก่อน ๆ หลาย ๆ สูตรก็ไม่เหมือน เพราะผู้แต่งสร้างสูตรขึ้นใหม่เพื่อให้ชัดเจนและครอบคลุมยิ่งขึ้น
ทั้งคัมภีร์ไวยากรณ์โมคคัลลานะและสัททนีติ ไม่มีการเรียนการสอนอย่างเป็นทางการในประเทศไทย คงมีการศึกษากันเองในหมู่ผู้สนใจจำนวนน้อยเท่านั้น
ไวยากรณ์บาลีแบบไม่มีสูตร
ในประเทศไทย สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส (พระราชโอรสในหลวงรัชกาลที่ 4/น้องยาเธอในหลวงรัชกาลที่ 5) เคยเรียนบาลีตั้งแต่เป็นเด็กในวังและได้อุปสมบทเข้ามาเรียนบาลีเพิ่มเติมอีก จนเมื่อมีอายุพรรษามากขึ้น ได้รับบริหารงานคณะสงฆ์ พระองค์ได้เสด็จไปตามหัวเมืองต่าง ๆ ได้พบเห็นพระภิกษุสามเณรเรียนบาลีตามวัดต่าง ๆ แล้ว ทรงเห็นปัญหาการเรียนบาลีในสมัยนั้นที่ยากลำบาก (ตำรามีน้อย ครูสอนน้อย สื่อ อุปกรณ์จดบันทึกมีน้อย วิธีการเรียนรู้ยุ่งยาก เริ่มต้นก็เรียนไวยากรณ์แบบบาลีเป็นบาลีเลย ไม่มีการจัดระบบห้องเรียน และเรียนกันแบบตามมีตามเกิด ตามความสะดวกและความพอใจของอาจารย์สอน การปิดการปิดไม่แน่นอน) สำนักเรียนหนึ่ง ๆ ถ้ามีผู้เรียน 100 คน จะมีผู้เรียนจบแค่ 1-2 คน หรือไม่มีคนเรียนจบหลักสูตรเลยก็ได้ในรุ่นนั้น ต้องใช้เวลาเรียนนานมาก เสียเวลามาก และเพี้ยนไปก็มาก คือเรียนบาลีเพื่อความขลังหรือเรียนไวยากรณ์บาลีกัจจายนะเพื่อไปเน้นทำเครื่องรางของขลังก็มาก พระองค์จึงได้ปรับปรุงการเรียนบาลีขึ้นใหม่ ให้มีระบบการจัดชั้นเรียน (มีห้องเรียน มีการวัดผลที่เป็นระบบ เปลี่ยนระบบการสอบแบบปากเปล่าเป็นเขียนคำตอบเพื่อจะได้มีความชำนาญในภาษาไทยด้วย ฯลฯ)
พระองค์ได้ทรงเรียบเรียงตำราเรียนบาลีไวยากรณ์แบบย่อ ๆ เพื่อปูพื้นฐานในระดับเบื้องต้นโดยมีพระประสงค์จะให้ผู้เรียน สามารถเรียนรู้ภาษาบาลีได้แบบรวดเร็ว แปลบาลีได้อย่างรวดเร็ว เพื่อจะได้มีกำลังใจการศึกษาเรียนรู้คัมภีร์บาลีอื่น ๆ ต่อไป ตำราเรียนบาลีที่ทรงนิพนธ์ขึ้นนี้เรียกว่า
“แบบเรียนบาลีไวยากรณ์ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส" เป็นตำราไวยากรณ์บาลีแบบไม่มีสูตร เน้นเขียนอธิบายหลักการทางภาษาไปเลย
ต่อมาคณะสงฆ์ได้ใช้แบบเรียนนี้เป็นหนังสือหลักในการสอบบาลีสนามหลวงในระดับชั้นต้น (ประโยค 1-2 และประโยค 3) จึงเรียกแบบเรียนบาลีนี้ว่า "หนังสือเรียนบาลีสนามหลวง" ซึ่งพระภิกษุสามเณรในประเทศไทยใช้เรียนตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ. 2454 เป็นต้นมาจนถึงทุกวันนี้
///ความเห็นส่วนตัว-ธฤญเดชา ลิภา///
“แท้จริง ไวยากรณ์บาลีที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงนิพนธ์ขึ้นนั้น พระองค์มีพระประสงค์เพื่อให้เป็นพื้นฐานในระดับเบื้องต้นเท่านั้น เมื่อเรียนจบบาลีพื้นฐานนี้แล้ว ต้องมีการต่อยอดไปเรียนไวยากรณ์บาลีที่มีเนื้อหากว้างขวางและละเอียดลึกซึ้งกว่านั้น กล่าวคือ ต้องไปเรียนไวยากรณ์บาลีกัจจายนะ โมคคัลลานะ และ สัททนีติ ต่อไปนั่นเอง ไม่ใช่เรียนหนังสือเรียนบาลีชั้นต้นของพระองค์จบแล้วก็พากันหยุดอยู่เพียงแค่นั้น
เรื่องนี้ นับเป็นสิ่งที่น่าเสียดาย ด้วยหาคนที่เข้าใจพระดำริและพระประสงค์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ได้ยากมาก ดังนั้น หลังพระองค์สิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ.2464 ผู้ที่รับช่วงงานการศึกษาบาลีต่อจากพระองค์ จึงไม่ได้พัฒนาการศึกษาบาลีให้มีความก้าวหน้าทันสมัยให้มากยิ่งกว่าที่เป็นอยู่ขณะนั้นได้
ผลกระทบที่สำคัญอย่างหนึ่งจากการมีตำราเรียนไวยากรณ์บาลีฉบับย่อของบาลีสนามหลวงนี้ คือ ทำให้พระภิกษุสามเณรทั้งประเทศค่อย ๆ เลิกเรียนมูลกัจจายน์ที่เคยเรียนกันมาแต่เดิมตั้งแต่สมัยยังไม่มีอาณาจักรสุโขทัย และหลังจากนั้นก็แทบไม่มีคนเรียนบาลีมูลกัจจายน์สืบต่อมาอีกเลย จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2499 เริ่มมีผู้รื้อฟื้นการเรียนมูลกัจจายน์ขึ้นมา โดยนำเข้าครูผู้สอนจากต่างประเทศ และมีผู้สนใจเรียนพอควร เช่น ที่วัดท่ามะโอ ลำปาง ในช่วงปี พ.ศ. 2510-2535 จะเฟื่องฟูที่สุด (ปัจจุบันการเรียนการสอนซบเซาแล้ว) และในปัจจุบันมีสอนบาลีแบบดั้งเดิมที่วัดวิหารธรรม อุดรธานี, วัดหาดใหญ่สิตาราม สงขลา, วัดจากแดง สมุทรปราการ, วัดสุทธาโภชน์ เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ(4วัดนี้ มีการเรียนการสอนอยู่ แต่ไม่มีอะไรรับประกันได้ว่าจะต่อเนื่องยาวนานแค่ไหน)เพราะการเรียนแบบนี้ เป็นการเรียนการสอนแบบทำกันเอง ไม่มีการส่งเสริมสนับสนุนรับรองจากองค์กรปกครองระดับสูงของคณะสงฆ์ จึงมีการเปิด ๆ ปิด ๆ ไปตามอาจารย์ผู้สอน ปัญหาสำคัญอีกอย่างคือผู้เรียนจำเป็นต้องเรียนบาลีหลายหลักสูตรในขณะเดียวกัน กล่าวคือต้องเรียนบาลีสนามหลวงเพื่อสอบให้ได้วุฒิการศึกษาที่เป็นทางการ และต้องเรียนบาลีดั้งเดิมเพื่อสืบทอดประเพณีและฝึกความเชี่ยวชาญสำหรับศึกษาพระไตรปิฎก (ที่ไม่มีวุฒิรับรองตามกฎหมาย)ไปด้วย
ผู้รับผิดชอบงานการศึกษาบาลีของไทยที่รับหน้าที่ต่อ ๆ กันมา จากสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ เมื่อไม่เข้าใจพระดำริและพระประสงค์ของพระองค์ อีกทั้งยังมีความเกรงใจในหมู่พระสงฆ์ด้วยกันเองด้วย จึงไม่มีการปรับปรุงพัฒนาหลักสูตรการเรียนบาลีให้มีความทันสมัยก้าวหน้ายิ่งขึ้น จวบจนกระทั่งทุกวันนี้ จึงทำกันได้เพียงรักษาระบบและรูปแบบที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ทรงวางฐานไว้เมื่อ 100 กว่าปีที่แล้วเท่านั้น ไม่มีการทบทวนผลดีผลเสียของการศึกษาบาลีที่เป็นอยู่ ไม่มีการพัฒนาการศึกษาบาลีให้ดียิ่งขึ้นกว่า 100 ปีที่แล้วเลย ถ้าจะกล่าวว่า นี่คือการแช่แข็งการศึกษาบาลีก็คงไม่ผิดประการใด”
เริ่มใช้คำ “ภาษาบาลี” ในความหมายว่าเป็น “ภาษา ๆ หนึ่ง" กันเมื่อใด
จากที่กล่าวมาข้างต้น พอสรุปได้ว่า เราเรียกภาษาที่จารึกคำสอนของพระพุทธเจ้าว่า "ภาษาบาลี" นี้ นับแต่เริ่มมีไวยากรณ์บาลีขึ้นมาเล่มแรก ๆ นั่นเอง และในสมัยแรก ๆ ท่านคงจะให้ความหมายตำราของท่านว่า
"ไวยากรณ์/ระเบียบกฎเกณฑ์ทางภาษาเพื่อความเข้าใจพระบาลี”
(“พระบาลี” ในที่นี้ ในสมัยแรก ๆ หมายถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าเท่านั้น เมื่อมีการอ้างอิงการอธิบายข้อความในพระไตรปิฎกของพระอรรถกถาจารย์) ต่อมาจึงมีการอธิบายความหมายใหม่เพิ่มเข้ามาว่า บาลี เป็นภาษาที่รักษาคำสอนพระพุทธเจ้า (พุทฺธวจนํ ปาเลตีติ ปาลิ)
สรุปว่า คำว่า
“บาลี/ปาลิ/ปาฬิ”
มี 2 ความหมาย คือ พระบาลี หมายถึงคำสอน/พระดำรัสของพระพุทธเจ้า และ ภาษาบาลี ภาษาที่รักษาคำสอนพระพุทธเจ้า และคำว่า
“ไวยากรณ์บาลี”
ก็มี 2 ความหมายเช่นกัน คือ ระเบียบกฎเกณฑ์ทางภาษาเพื่อความเข้าใจพระบาลีคือพระดำรัสของพระพุทธเจ้า และ ระเบียบกฎเกณฑ์ทางภาษาบาลี
ไม่มีภาษาที่มีชื่อเรียกว่า "ภาษาบาลี" ในอินเดียสมัยพุทธกาล
ถ้าใครจะบอกว่า ไม่มีภาษาที่มีชื่อเรียกว่า "ภาษาบาลี" ในอินเดียสมัยพุทธกาลก็คงพูดได้ ไม่แปลกอะไร เพราะเขาไม่ได้เรียกว่า ภาษาบาลีมาแต่ต้น เขาจะเรียกเป็นภาษาอะไรไม่ทราบแน่ชัด แต่คนยุคหลังได้เรียกแบบรวม ๆ ว่า ภาษามาคธี = ภาษาชาวมคธ (ภาษาที่มีการพูดกันในรัฐมคธและรัฐใกล้เคียง) ของคนยุคโน้น
บาลี เป็นภาษาประดิษฐ์ ?
ถ้าใครจะบอกว่า “ในอินเดียสมัยพุทธกาล ไม่มีคำและภาษาพูดตามรูปแบบที่ปรากฎในพระไตรปิฎกบาลี” อันนี้ ย่อมไม่ถูกต้องอย่างแน่นอนเพราะถ้าไม่มีภาษาพูดแบบนี้กันแล้ว เขาจะจำและเขียนสืบต่อกันมาได้อย่างไร คนที่จำและเขียนบันทึกคำสอนของพระพุทธเจ้าไว้นี้ ไปเอาภาษานี้มาจากไหน
ถ้าคิดว่า ภาษานี้ไม่มีคนใช้สื่อสารกันจริงในยุคนั้น แต่เป็นภาษาที่ประดิษฐ์แต่งกันขึ้นใหม่ เราต้องไม่ลืมว่า คัมภีร์ทางพระพุทธศาสนามีมากกว่า 1,000 คัมภีร์ ภาษาที่ใช้ในคัมภีร์เหล่านี้คน ๆ เดียวคงไม่สามารถประดิษฐ์และแต่งได้มากขนาดนั้น ต้องมีหลายคนช่วยกันประดิษฐ์ และเนื้อหาและถ้อยคำก็คงจะไม่สอดคล้องไปในแนวทางเดียวกันกับที่ปรากฏมีอยู่ในพระไตรปิฎก อรรถกถา ฏีกา สัททาวิเสสต่าง ๆ อย่างแน่นอน เมื่อมีคนประดิษฐ์หลายคนเนื้อหาและถ้อยคำจะต้องแตกต่างกันไปอย่างมากมาย แต่นี่ตรงกันข้าม เนื้อหาถ้อยคำต่าง ๆ ในคัมภีร์เหล่านี้ล้วนสอดคล้องและเป็นไปในแนวทางเดียวกันทั้งหมด มีแตกต่างกันเพียงเล็กน้อยเท่านั้น (ซึ่งน่าจะเป็นเพราะการเขียนคัดลอกสืบต่อกันมาในระยะหลังมากกว่า) ดังนั้นประเด็นที่ว่า บาลีเป็นภาษาประดิษฐ์นี้ จึงตกไป
บาลี เป็นมรดกทางปัญญาของมนุษย์ที่ยอดเยี่ยมที่สุด
ไม่ว่าจะเรียกหรือไม่เรียกภาษานี้ว่าอย่างไรก็ตาม ภาษาอันเก่าแก่ที่บันทึกรักษาพระพุทธดำรัสคือพระไตรปิฎกที่ชาวพุทธแต่ละยุคในแต่ละประเทศช่วยกันรักษา ถ่ายทอดสืบต่อ ๆ กันมานี้นั้น มีคุณค่าและประโยชน์อย่างยิ่งใหญ่ที่สุดต่อมวลมนุษย์ นับเป็นมรดกทางปัญญาของมนุษย์ที่ยอดเยี่ยมยิ่งกว่ามรดกใด ๆ ทั้งสิ้นในโลกนี้ จึงควรที่มนุษย์ผู้มีศรัทธาและปัญญาจะต้องช่วยกันรักษา เรียนรู้ และส่งต่อให้อนุชนภายหน้าให้ช่วยกันสืบต่อไปให้ยาวนานที่สุด เพื่อประโยชน์และความสุขของมนุษย์ทั้งมวลนั่นเอง
ทำไม จึงไม่พบคนที่พูดภาษาบาลีแบบพระไตรปิฎกในอินเดียทุกวันนี้
ภาษาแต่ละภาษาไม่หยุดนิ่ง มีพัฒนาการ มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ทั้งคำศัพท์ รูปแบบการเขียน ตัวอักษร การออกเสียง การพูด หรือแม้กระทั่งความหมายก็ปรับเปลี่ยนไปตามสมัยนิยมได้ ภาษาบาลีหรือภาษามคธที่ใช้สื่อสารพูดคุยในแผ่นดินอินเดียนี้ก็เช่นเดียวกัน ในระยะเวลาต่อ ๆ มา มีการผสมผสานปะปนกับภาษาอื่น ๆ ด้วย จะให้คงเดิมเป็นภาษาเดียวแบบหมดจดตลอดไป ย่อมเป็นไปไม่ได้และอาจด้วยเหตุผลอื่น ๆ ทางสังคมด้วย เช่น การเปลี่ยนแปลงผู้ปกครอง การเปลี่ยนแปลงศาสนาของคนในอินเดีย สงคราม โรคร้ายแรงระบาด ภัยพิบัติ การอพยพของผู้คน ฯลฯดังนั้น เราจึงไม่พบกลุ่มชนที่พูดภาษาแบบที่ปรากฎในพระไตรปิฎกของพระพุทธศาสนาเถรวาทในประเทศอินเดียทุกวันนี้
หมายเหตุ
1. เอกสารนี้ อธิบายด้วยภาษาพูดแบบง่าย ๆ ไม่ทางการนัก เล่าจากความจำเป็นหลัก อาจมีข้อผิดพลาดอยู่บ้าง ดังนั้น หากจะนำไปอ้างอิง โปรดตรวจสอบให้แน่นอนก่อน
2. การเรียนภาษาบาลี โดยเพิ่มความสนใจในเรื่อง ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ รัฐศาสตร์ ประเพณี ชาติพันธุ์เผ่าชน พัฒนาการทางสังคม ฯลฯ ด้วย จะทำให้เรียนบาลีสนุกและท้าทายยิ่งขึ้น
ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม1 :
Download?
( 582.61 kb )
ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม2 :
Download?
( 12 kb )
ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม3 :
Download?
( 12 kb )
ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม4 :
Download?
( 12 kb )
ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม5 :
Download?
( 12 kb )
ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม6 :
Download?
( 12 kb )
ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม7 :
Download?
( 12 kb )
ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม8 :
Download?
( 12 kb )
เขียนเมื่อ 2 พฤษภาคม 2561 | อ่าน 16306
เขียนโดย
นายธฤญเดชา ลิภา
ทั้งหมด
0
รายการ
ค้นหา
หมวด
ทั้งหมด
ภาษาบาลีทั่วไป
สถาบันสอนภาษาบาลี
องค์กรเกี่ยวกับบาลี
เว็บพุทธศาสนาทั่วไป
โรงเรียนพระปริยัติธรรม
วัดทั่วประเทศ
Buddhism (International)
เว็บผู้อุปถัมภ์มหาบาลีวิชชาลัย
ธรรมะสาธุ
แปลยกศัพท์ธรรมบทออนไลน์ 8 ภาค สำหรับบาลีศึกษา/ประโยค 1-2
วัดพระธาตุดอยสุเทพ
โรงเรียนพระปริยัติธรรมวัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร ศึกษาภาษาบาลีออนไลน์
เรียนบาลี ปทรูปสิทธิ อภิธานวรรณนา
เรียนบาลีเบื้องต้น ปทรูปสิทธิ อภิธานวรรณนา ในรูปแบบ pdf html และ mp3 โดยพระมหาสมปอง มุทิโต
เรียนบาลีกับพระมหาประนอม ธมฺมาลงฺกาโร
เรียนภาษาบาลีกับพระมหาประนอม ธมฺมาลงฺกาโร ผ่าน youtube ดูเป็นตอน ๆ 1- 30 ตอน
Palipage รู้ภาษามีภาษี เรียนบาลีได้กุศล
รวมความรู้ไวยากรณ์บาลี กัจจายนปกรณ์ ธรรมะทั่วไป และสาระบาลีต่าง ๆ
สำนักเรียนวัดโมลีโลกยาราม
สำนักเรียนดีเด่น เปิดสอนบาลีสำหรับพระภิกษุสามเณรทุกชั้น ตั้งแต่ ประโยค 1-2 ถึง ป.ธ.9
วัดท่ามะโอ ลำปาง
วัดท่ามะโอ ลำปาง สำนักปฏิบัติธรรม และสำนักเรียนบาลีใหญ่
ชมรมธัมมปาลิสิกขา
เพื่อการศึกษาพระธรรมจากคัมภีร์บาลี เรียนรู้ปทรูปสิทธิ
โครงการเมตตา 2020
โครงการสร้างพระภิกษุสามเณรจากอินเดียกว่า 2,000 รูป เพื่อกลับไปฟื้นฟูพระพุทธศาสนาประเทศอินเดียในระยะยาว
สอนแปลบาลีธรรมบท ประโยค 1-2
วีดีโอสอนแปลบาลีธรรมบท ประโยค 1-2 โดย อ.กรภพ วัดพระเจ้าตนหลวง อธิบายง่าย เข้าใจง่าย
แจ้งเพิ่มเว็บไซต์
ดูทั้งหมด..
ตอบคำถาม ไม่มีคำว่า "ภาษาบาลี" ในพระไตรปิฎก
ความสำคัญของภาษาบาลี
การศึกษาบาลีในประเทศไทย มีผู้เกี่ยวข้องอยู่หลายส่วน
ขออาราธนาเจ้าคณะจังหวัด พระสังฆาธิการทุกระดับ เปิดสอนบาลีฆราวาส ปี 2559 เป็นต้นไป
ข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงงานบาลีของประเทศไทย สำหรับกองบาลีสนามหลวงและมหาเถรสมาคม
ดูวีดีโออื่นๆ
อาจารย์ปรีชา แก้วทาสี
ปทรูปสิทธิ
ดูทั้งหมด
กัจจายนสูตร MP3
สนฺธิกณฺฑ ๑-๕
สนฺธิกณฺฑ ๒-๕
สนฺธิกณฺฑ ๓-๕
สนฺธิกณฺฑ ๔-๕
สนฺธิกณฺฑ ๕-๕
นามกณฺฑ ๑-๕
นามกณฺฑ ๒-๕
นามกณฺฑ ๓-๕
นามกณฺฑ ๔-๕
นามกณฺฑ ๕-๕
การกกณฺฑ ๑-๑
สมาสกณฺฑ ๑-๑
ตทฺธิตกณฺฑ ๑-๑
อาขฺยาตกณฺฑ ๑-๔
อาขฺยาตกณฺฑ ๒-๔
อาขฺยาตกณฺฑ ๓-๔
อาขฺยาตกณฺฑ ๔-๔
กิพฺพิธานกณฺฑ ๑-๕
กิพฺพิธานกณฺฑ ๒-๕
กิพฺพิธานกณฺฑ ๓-๕
กิพฺพิธานกณฺฑ ๔-๕
กิพฺพิธานกณฺฑ ๕-๕
อุณาธิกณฺฑ ๑-๑
สุตฺตสงฺคหคาถา
กจฺจายนสุตฺตปาโฐ (รวมทุกกัณฑ์)
ดาวน์โหลดหนังสือ กัจจายนสูตร
ดาวน์โหลดกัจจายนสูตร MP3
มหาบาลีวิชชาลัย วัดโมลีโลกยาราม ถนนวังเดิม เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพฯ 10600
โทร. 0-2472-8147, 099-2468-986, 086-7962-617, 089-6601-464
E-mail :
พัฒนาเว็บไซต์โดย สถาบันเทคโนโลยีพุทธบริษัท Developed by Buddhist Institute of Technology Thailand (BIT THAILAND)