แนวทางสอนชาวบ้านแปลบาลีธรรมบทให้เกิดประโยชน์สูงสุด


         ชาวบ้านที่มาเรียนบาลีส่วนมากเป็นผู้ใหญ่ มีพื้นฐานทางความคิดที่ดี มีหลักวิธีในการเรียนที่ดีมีข้อมูลพื้นฐานทางสังคม วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมมาก มีประสบการณ์ในการทำงานมามากแล้ว หลายคนมีวิธีการค้นคว้าหาข้อมูลดี สามารถคัดเลือก แยกแยะ เชื่อมโยง จัดเก็บ จัดระเบียบข้อมูลได้ดี รวมทั้งมีวิธีการนำเสนอข้อมูลที่ดีด้วย ดังนั้น การสอนแปลบาลีธรรมบทสำหรับชาวบ้าน จึงต้องหาวิธีปรับให้เหมาะสม
         อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านจะมีเวลาจำกัดในการเรียนบาลี สัปดาห์หนึ่งมาเรียนได้เพียง 1-2 วันเท่านั้น ดังนั้น แม้จะมีเวลาเรียนจำกัด แต่หากมีวิธีการสอนที่เหมาะสม จะช่วยให้เกิดประโยชน์อย่างมาก ข้อที่ควรคำนึงไว้เป็นมั่นเหมาะแน่วแน่ คือ ไม่ควรมุ่งเน้นสอนเพื่อเตรียมเข้าสอบบาลีศึกษามากเกินไป ควรเน้นให้ผู้เรียนได้รับความรู้อย่างลึกซึ้ง มีความร่าเริงทางธรรมเป็นเบื้องต้นก่อนจะดีกว่า
         แนวทางที่แนะนำต่อไปนี้ ประมวลจากประสบการณ์ส่วนตัวและมองดูการสอนบาลีของพระสงฆ์ไทยมาพอสมควร ไม่พึงสรุปว่า นี่เป็นแบบสำเร็จรูปสมบูรณ์ ให้คิดว่าเป็นแนวประกอบส่วนหนึ่งเท่านั้น ผู้สอนพึงเลือกเฟ้นและประยุกต์ให้เหมาะสมกับกลุ่มผู้เรียน สภาพแวดล้อม ความพร้อมทางทรัพยากร และอื่น ๆ ตามสมควร

        แนวการสอนชาวบ้านแปลบาลีธรรมบทให้เกิดประโยชน์สูงสุด ควรทำดังนี้

1. ทำแผนผังความคิด (Mind Map) ร่างโครงสร้าง หรือวาดภาพให้ผู้เรียนเห็นว่า คัมภีร์ต่าง ๆ ในพระพุทธศาสนามีอะไรบ้าง จัดประเภทจัดระดับชั้นอย่างไรบ้าง โยงให้เห็นเป็นแผนผังในภาพรวม ตั้งแต่พระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา ปกรณ์พิเศษต่าง ๆ (ในคัมภีร์ระดับอรรถกถาลงมา ควรให้ผู้เรียนได้รู้จักชื่อและประวัติผู้แต่งคัมภีร์นั้น ๆ ด้วย)

2. นำพระไตรปิฎกฉบับบาลีและฉบับแปลเป็นไทยของเล่มที่ว่าด้วยเรื่อง ธรรมบท มาแสดงให้ผู้เรียนดู เพื่อให้ผู้เรียนได้สัมผัสเล่มจริง (หาเล่มที่เก่าที่สุดได้ยิ่งดี และหากมีพระไตรปิฎกหลายภาษามาแสดงด้วยยิ่งดีเข้าไปอีก)  พร้อม ๆ กับถามและชวนแลกเปลี่ยนความคิดเห็นผู้เรียนว่า บรรพชนโบราณาจารย์เถรวาท ปราชญ์บัณฑิต กลุ่มผู้นำในสังคมและคนไทยสมัยก่อนเขาดูแลรักษาพระไตรปิฎกกันอย่างไร อาจยกตัวอย่างสภาพบ้านเมืองถูกเผาในเหตุการณ์สงคราม เช่น ในยุคกรุงศรีอยุธยา สิ่งมีค่าสำคัญที่เสียหายไปในระหว่างสงคราม และการพยายามเสาะหาคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาจากที่ต่าง ๆ เพื่อนำมารวบรวมเรียบเรียงเข้าชุดกัน พร้อม ๆ กับตรวจสอบชำระกันใหม่จนตกมาถึงยุคพวกเรา
           (ตรงนี้มุ่งเน้นให้ผู้เรียนเกิดความรักความรู้สึกหวงแหนและเห็นความสำคัญในอริยมรดกของบรรพชน รวมทั้งให้เห็นคุณค่าเห็นความยากลำบากในการดูแลรักษาคัมภีร์ต่าง ๆ ในยุคก่อน ๆ ที่ล้วนแต่มีข้อจำกัด)
            ควรกระตุ้นให้ผู้เรียนทุกคนในห้องเรียนได้แสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ในขั้นตอนเริ่มต้นนี้ เพราะจะเป็นการเปิดตัวเปิดใจทุกคนด้วย เป็นการสร้างความคุ้นเคยกับเพื่อนร่วมห้องคนอื่น ๆ ได้อย่างรวดเร็ว
            แต่พึงตระหนักในเรื่องสัมมาวาจาและเมตตาจิตระหว่างกัน หากแลกเปลี่ยนความคิดกันแล้ว เกิดการโต้เถียงมีเรื่องขุ่นเคืองใจระหว่างกัน แสดงว่าใจผู้เรียนยังไม่กว้างพอยังแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเชิงวิชาการไม่เป็น ยังหนักในทิฐิจริตและติดในมานะความถือตัวยังถือเขาถือเราอยู่มาก ซึ่งถือเป็นเรื่องธรรมดา เพราะคนที่มีอายุมากผ่านประสบการณ์ชีวิตมามาก สะสมอะไรมามากมาย ก็จะออกลักษณะอาการเช่นนี้บ้าง แต่ผู้สอนต้องหาทางปรับเปลี่ยนทัศนะ ท่าทีและวิธีการของทุกคนใหม่ อย่าให้เสียความสามัคคีในกลุ่มผู้เรียน


3. ชวนพูดคุยให้ช่วยกันแสดงความรู้ความคิดเห็นอย่างเต็มที่ว่า
         1. ธรรมบท คืออะไร (หาความหมายหลาย ๆ นัยที่คนรุ่นเก่าอธิบายไว้มาช่วยกันดูและวิจารณ์)
         2. อรรถกถาธรรมบทคืออะไร
         3. ใครคือคนให้คำอธิบายพระธรรมบท (ที่เรียกว่าพระอรรถกถาจารย์) คนที่ให้คำอธิบายนี้ เขาอธิบายตั้งแต่เมื่อไหร่ ผู้อธิบายต้องมีคุณสมบัติพื้นฐานขั้นต่ำอย่างไร
         4. พระสงฆ์หรือชาวไทยในปัจจุบันมีคุณสมบัติพอจะเป็นพระอรรถกถาจารย์ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด  
         5. ประเด็นสำคัญคือแต่ละคนที่มาเรียนแปลบาลีธรรมบท  ผู้เรียนจะนำข้อคิดหลักธรรมในธรรมบทมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับตัวเองอย่างไร เพราะหลายคนอายุมากแล้ว คงมีเวลาอยู่ในโลกได้ไม่นาน ดังนั้นต้องเร่งหาเอาประโยชน์จากการเรียนรู้บาลีธรรมบทครั้งนี้ให้มากที่สุด


4. ชวนกันสอบสวนขยายความรู้ต่อไปอีกว่า คนในยุคก่อน ๆ เขาสืบทอดพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้ากันอย่างไร ทั้งในอินเดีย ศรีลังกา พม่า เขมร ลาว ยูนนาน เวียดนาม ไทย จีน ตะวันออกกลาง ฯลฯ ทำไมพระพุทธศาสนาจึงหายไปจากอินเดีย สถานภาพพุทธศาสนาแบบเถรวาทในยูนนานในปัจจุบันเป็นอย่างไร  พระพุทธศาสนาในประเทศไทยปัจจุบันถือว่ามั่นคงเกิดประโยชน์กับชีวิตคนในสังคมเพียงพอหรือยัง ฯลฯ


5. ปรึกษาหารือกันว่า วิธีการแปลบาลีในแต่ละประเทศเขาแปลกันอย่างไร ฝรั่งแปลอย่างไร ไทยแปลอย่างไร (เนื่องจากผู้เรียนผ่านการเรียนไวยากรณ์บาลีเบื้องต้นมาแล้ว ได้เรียนรู้หลักการแปลบาลีพื้นฐานและวากยสัมพันธ์มาแล้ว) จึงไม่จำเป็นต้องสอนวิธีการแปลใหม่ ยกเว้นมีคนมาใหม่จริง ๆ ต้องแนะนำซักซ้อมวิธีการแปลตามหนังสือหลักการแปลบาลีขั้นพื้นฐานและหลักการสัมพันธ์ให้เข้าใจก่อน


6. มอบหนังสือให้ผู้เรียนให้ครบชุดดังนี้
        1. อรรถกถาบาลีธรรมบท
        2. แปลธรรมบทโดยอรรถ (เผด็จ)
        3. แปลธรรมบทโดยพยัญชนะ
        4. พจนานุกรมบาลี หนังสือและเอกสารประกอบต่าง ๆ (ถ้ามี ควรหาพจนานุกรมสักเล่มมอบให้)


7.  ทำแผนผังความคิดสรุปภาพรวมบาลีธรรมบททั้ง 8 ภาค
          1. แต่ละภาคแบ่งหมวดหมู่เนื้อหาอย่างไร
          2. ใช้เกณฑ์อะไรในการจัดหมวดหมู่ เขาเรียงลำดับหมวดหมู่อย่างไร
          3. แต่ละหมวดหมู่มีกี่เรื่อง ๆ อะไรบ้าง (ยังไม่ต้องลงรายละเอียดว่า แต่ละเรื่องเกี่ยวกับอะไร) เขาเรียงลำดับเรื่องอย่างไร


8. เลือกภาคใดภาคหนึ่งใน 8 ภาคนี้มาสอนแปลก่อน เช่น เลือกภาค 4 หรือภาค 5 เลือกเรื่องสั้น ๆ มาฝึกแปลก่อน (ไม่จำเป็นต้องเรียงลำดับตั้งแต่เรื่องที่ 1- เรื่องสุดท้าย)

9. กรณีเลือกภาค 4 มาแปลก่อน ให้ทำแผนผังโครงสร้างธรรมบทภาค 4 มาให้ผู้เรียนดูโดยละเอียด
        1. มีกี่วรรค อะไรบ้าง แต่ละวรรคเกี่ยวกับอะไร
        2. มีกี่เรื่อง อะไรบ้าง สรุปเนื้อหาโดยย่อของแต่ละเรื่องให้ผู้เรียนได้รู้เป็นเบื้องต้น
        3. ในการฝึกแปลพร้อมกันทั้งห้อง จะวางแผนเรียนแปลอย่างไร ต้องใช้เวลากี่ชั่วโมง
10. เลือกเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่จะฝึกแปลขึ้นมาก่อน
      1  ให้หยิบธรรมบทแปลโดยอรรถขึ้นมาอ่านพร้อมกัน ฝึกอ่านเป็นจังหวะตั้งแต่ชื่อเรื่องจนจบเรื่อง
      2  ให้หยิบอรรถกถาบาลีธรรมบทมาอ่านพร้อม ๆ กัน เป็นจังหวะวรรคตอนชัดถ้อยชัดคำ ตั้งแต่ต้นเรื่องจนจบเรื่องสัก 3 รอบ เพื่อสร้างความคุ้นชินในการออกเสียงและการเรียงประโยคบาลี พร้อม ๆ กับสร้างความตื่นตัวและความสงสัยไปในตัวผู้เรียนด้วย
      3  สรุปสถิติให้ผู้เรียนดูในเรื่องที่กำลังเรียนแปลอยู่นั้นว่า มีคำบาลีทั้งหมดกี่คำ มีคำไหนใช้ซ้ำ ๆ บ่อยที่สุดกี่ครั้ง เรียงลำดับ 1-5 ที่คำใช้บ่อยสุด ถ้าแยกให้เห็นเปอร์เซ็นการใช้คำนาม สรรพนาม กิริยา นิบาต ในเรื่องได้ก็จะยิ่งดี
      4  ช่วยกันคัดเลือกคำมาวิเคราะห์ทีละคำ ๆ เช่น คำนาม วิเคราะห์ถึงลิงค์และวิภัตติ (ปทมาลาและตัวเลือกคำอื่น ๆ ที่สามารถใช้แทนได้)  ในช่วง 4-5 เรื่องแรก ๆ ให้เลือกคำที่สั้น ๆ ก่อน ส่วนคำยาว ๆ สมาสหรือตัทธิตยาวๆ  ให้ผู้สอนวิเคราะห์ให้ดูให้หมด  ในส่วนคำกิริยา ฝึกนำวิเคราะห์ว่า มีบทหน้า (?) มีธาตุ มีปัจจัย ลงวิภัตติอะไร เป็นวาจกอะไร
         เพื่อให้สะดวกและรวดเร็ว ผู้สอนควรทำวิเคราะห์คำนามและกิริยาเป็นเอกสารมอบให้ผู้เรียนล่วงหน้าก่อนเข้าเรียนเรื่องนั้น ๆ ทุกครั้ง อย่างน้อย 7 วัน เพื่อให้ผู้เรียนไปฝึกอ่านฝึกซ้อมล่วงหน้า

      5 เมื่อทำการวิเคราะห์ทุกคำตั้งแต่ต้นเรื่องจนจบแล้ว ค่อยพาฝึกแปลบาลีอรรถกถาธรรมบท ทบทวนลำดับการแปล ชี้จุดเริ่มต้นประโยค จุดจบของแต่ละประโยค ดูประเภทคำที่ปรากฎในประโยค มีช่วงข้อความที่ “อิติ” เก็บไว้อยู่หรือไม่ แล้วพาแปลทีละประโยค ๆ  พาสัมพันธ์ทีละประโยค ๆ สัก 3 รอบ (ในแต่ละเรื่อง)
        ปล่อยให้ผู้เรียนลองแปลและสัมพันธ์พร้อมกันบ้าง สุ่มให้บางคนแปลและสัมพันธ์ให้เพื่อนฟังบ้างเป็นประโยคสั้น ๆ (ไม่ควรยาว) จะช่วยสร้างความตื่นตัวและความมั่นใจให้กับผู้เรียนได้
        (บางคน ถ้าจะให้แปลหนังสือเล่มบาลีอรรถกถาธรรมบทเลย จะอึดอัด เพราะตัวหนังสือมันดูแน่นไปหมด ลองสังเกตุผู้เรียนดูแล้วลองเปลี่ยนแผนบ้าง คือ ใน 1-5 เรื่องแรก ๆ ที่ฝึกแปล ให้ดึงบาลีอรรถกถาธรรมบทมาพิมพ์ลงเอกสารใหม่ต่างหาก จัดวรรคตอนใหม่ แบ่งเป็นช่วงข้อมูลใหม่ ให้ผู้เรียนได้มีช่องว่างพักดูทีละประโยค ๆ บ้าง มีพื้นที่กระดาษว่างให้เขียนลงไปได้ด้วย ก็จะทำให้เรียนง่ายขึ้น)

        6 เมื่อพากันซ้อมแปลและสัมพันธ์จนจบเรื่องแล้ว ให้ผู้เรียนสรุปด้วยตนเองว่า คำไหนรู้สึกว่ายาก ประโยคไหนรู้สึกว่ายาก ให้ทำเครื่องหมายหรือจดบันทึกไว้ต่างหาก (แต่ละคนจะสรุปได้ว่า มีจุดยากง่ายไม่เหมือนกัน/เหมือนกันในบางจุด)
        7 ถ้าผู้สอนมีประสบการณ์ในการสอนแปลธรรมบทมาก่อนแล้ว จะเห็นปัญหาบ่อย ๆ ว่าเมื่อสอนกลุ่มอื่น ๆ ผู้เรียนมักจะพลาดตรงไหน อย่างไร ควรชี้ให้ผู้เรียนเห็นว่า นักเรียนแปลธรรมบทส่วนมากมักจะพลาดตรงจุดไหนในเรื่องนี้ เพราะเหตุใด ผู้เรียนไม่พลาดซ้ำรอยเดิมเขาอีก

11. กระตุ้นให้ผู้เรียนแต่ละคนร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเนื้อหาในธรรมบทเรื่องนั้น ๆ ว่า
         1 เนื้อหาเป็นอย่างไร มีโอกาสเป็นจริงเพียงใด
         2 สภาพสังคมปัจจุบันมีเหตุการณ์หรือมีโอกาสเกิดเหตุการณ์แบบเรื่องราวที่ปรากฎในธรรมบทเรื่องนี้หรือไม่ 
         3 ผู้เรียนชอบหรือประทับใจอะไรในตัวละครต่าง ๆ ในธรรมบทเรื่องนี้
         4 ผู้สอนอาจเตรียมคำถามที่ชวนคิดต่าง ๆ มาให้ผู้เรียนได้ฝึกคิด เช่น บางคนฟังธรรมครั้งเดียวสามารถบรรลุอริยผลเลย คุณสมบัติและสภาพจิตเช่นไรจึงเหมาะที่จะบรรลุธรรมได้เร็ว
 
12. หากในเรื่องที่แปล มีคำนามที่เป็นสถานที่  เช่น วัด หรือเมืองต่าง ๆ ให้ผู้เรียนหากระดาษแผ่นใหญ่ ๆ มาทำแผนที่วัดและเมืองในชมพูทวีปยุคโน้น เทียบกับอินเดียในปัจจุบัน (ชื่อเมือง ที่ตั้ง ระยะห่าง จำนวนประชากร ฯลฯ) โดยนำ Google Map ที่เป็นข้อมูลปัจจุบันมาประกอบ โดยค่อย ๆ วาดไปเรื่อย ๆ ไม่ต้องเสร็จในวันเดียว หรืออาจมอบหมายให้เพื่อนร่วมห้องบางคนไปวาดมาให้เพื่อนคนอื่น ๆ ดูก็ได้ และทำเป็นแผ่นป้ายมาติดประจำไว้ที่ห้องเรียน เมื่อแปลเรื่องอื่น ๆ ที่มีชื่อเมืองใหม่ ๆ  ก็เอาแผนที่มาดูแล้ววาดต่อเติมเมืองนั้น ๆ เพิ่มไปอีกเรื่อย ๆ

13. มอบหมายงานให้ผู้เรียนไปอ่านอรรถกถาธรรมบทแปลโดยอรรถ อ่านบาลีอรรถกถาธรรมบท เทียบเคียงกับหนังสือแปลธรรมบทโดยพยัญชนะ ดูศัพท์ยากสำหรับการเรียนในครั้งต่อไปทุก ๆ ครั้ง (1-2 เรื่อง แล้วแต่เนื้อหา)

14. หมายเหตุ
        1. แนะนำให้ผู้เรียนหาสมุดบันทึกการเรียนอย่างดีมาใช้ (ปกแข็ง เล่มหนา ใช้งานได้ทนนาน) สามารถเก็บได้นาน 30-40 ปีขึ้นไป ให้บันทึกทั้งสิ่งที่เป็นเนื้อหาการเรียนและความคิดใหม่ ๆ (นอกเหนือเนื้อหาการเรียน) ที่เกิดขึ้นในขณะเรียนแปลบาลีธรรมบท แนะนำให้ผู้เรียนเก็บรักษาสมุดเรียนให้ดีที่สุดจนกว่าผู้เรียนจะหมดลมหายใจไปจากโลกนี้
           เมื่อจบคอร์สเรียนแปลในแต่ละปี หากสามารถจัดนิทรรศการแสดงสมุดบันทึกการเรียนบาลีของผู้เรียนทั้งหมด ชวนคนนอกมาร่วมศึกษาแบ่งกันดูสัก 1-2 วัน จะดีมาก
         2. เนื่องจากชาวบ้านไม่มีเวลามาเรียนบาลีตลอดสัปดาห์ มาเรียนได้เฉพาะวันอาทิตย์ (หรือเสาร์ด้วยในบางวัน/บางห้อง) ดังนั้นต้องให้ฝึกเขียนแปล ฝึกเขียนสัมพันธ์บ่อย ๆ อาจมอบหมายให้ไปฝึกเขียนที่บ้านมาส่งในสัปดาห์ต่อไป ๆ ให้เขียนครั้งละ 1 ข้อ หรือ 2 ข้อก็ยังดี การเขียนบ่อย ๆ จะทำให้ผู้เรียนเกิดความมั่นใจ
         3. แนวทางการประเมินผู้เรียน เตรียมเป็นรายการไว้เลยว่า เมื่อแปลจบเรื่องหนึ่ง ๆ ผู้เรียนแต่ละคนควรจะรู้และมีความสามารถอะไรบ้าง (ในระยะเวลา 7วันต่อไป) เช่น ในเรื่องหนึ่ง ๆ จะต้อง
               1. รู้คำศัพท์มากกว่า 95%
               2. วิเคราะห์คำนามได้มากกว่า 90%
               3. วิเคราะห์คำกิริยาได้มากกว่า 90%
               4. ข้อผิดพลาดเรื่องวาจก ไม่มี
               5. เรียกชื่อสัมพันธ์ได้ถูกต้อง 100%
               6. แปลตามหลักสัมพันธ์ สัมพันธ์ได้ถูกต้องโดยเฉพาะคำที่ต้องสัมพันธ์เข้ากลางบทต้องไม่ผิดพลาด
         4. กรณีมีผู้เรียนจำนวนมากและมีหลายห้อง แนะนำให้จัดงาน “บาลีสากัจฉาเรื่องการแปลบาลีธรรมบท” ก่อนอย่างน้อย 1 วัน เพื่อให้ผู้เรียนได้เข้าใจภาพรวมและโครงสร้างเนื้อหาบาลีธรรมบท
         5. ก่อนแปลเรื่องใหม่ในวันต่อไป ให้ทบทวนดูเรื่องเดิม โดยเน้นคำศัพท์หรือประโยคที่ควรระวัง
         6. รวบรวมกรณีตัวอย่างที่แปลผิด/สัมพันธ์ผิดตามเกณฑ์การสอบบาลีสนามหลวงมาอธิบายให้ผู้เรียนเข้าใจตั้งแต่เริ่มต้น
         7. จัดวันสอนเสริมเรื่องฉันท์เป็นการเฉพาะ เพื่อให้ผู้เรียนรู้จักประเภทและลักษณะฉันท์ได้อย่างน้อย 3-5 ฉันท์
         8. การสื่อสารระหว่างการเรียนการสอนให้ชัดเจน ตรงไปตรงมา ไม่ออกนอกเรื่องเกินไป เพราะชาวบ้านเดินทางมาเรียนบาลีในแต่ละวันนั้น บางคนนับเวลาไป/กลับ ใช้เวลามากกว่า 4 ชั่วโมง ดังนั้นผู้เรียนต้องได้ประโยชน์มากที่สุด
         9. ศัพท์เทคนิค/คำเฉพาะในแวดวงนักบวช ควรเลือกใช้ให้เหมาะสม ถ้าจำเป็นต้องใช้ ให้รีบอธิบายให้ชัดเจน
        10. เมื่อเรียนผ่านไป 3 เดือนแล้ว ให้เจาะลึกผู้เรียนเป็นรายบุคคลทันทีว่า ใครมีจุดอ่อนอะไร จะต้องเสริมตรงไหน ต้องแนะนำเป็นรายบุคคลให้ไปแก้ไขจุดอ่อนของตัวเอง ถ้าส่วนมากมีจุดอ่อนในเรื่องเดียวกันต้องสอนเสริมทันที เอาเรื่องนั้น ๆ มาทำความเข้าใจร่วมกันทันที อย่าปล่อยให้ผ่านไปจะเป็นการสะสมปัญหาในระยะยาว
         11. คำนามที่เป็นชื่อเฉพาะ เช่น ศัพท์ชื่อต้นไม้ ศัพท์เรียกสัตว์ชนิดต่าง ๆ ควรแนะนำให้เขียนบันทึกแยกออกมาต่างหาก เช่น ต้นกระเบา ต้นกากะทิง ต้นจิก ฯลฯ ต้นไม้บางชนิด โบราณาจารย์อธิบายว่าเป็นต้นไม้ประจำพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ ทำไม เพราะเหตุใด ชวนกันหาความรู้ได้
         12. คำและสำนวนแปลที่เป็นภาษาถิ่น ควรแนะนำผู้เรียนให้ชัดเจนว่า เทียบกับภาษาไทยกลางคืออะไร เช่น หญ้ากับแก้ (ภาษาถิ่นล้านช้าง) = หญ้า(ตีน)ตุ๊กแก
         13. ในบางเรื่องที่แปล จะมีมาตราวัดต่าง ๆ เช่น มาตราวัดระยะทาง วัดน้ำหนัก วัดรูปทรง วัดความเร็ว ฯลฯ มาตราวัดที่ปรากฎในเรื่องที่แปลมีใช้ในยุคพุทธกาลก็มียุคก่อนพุทธกาลก็มี ใช้เฉพาะบางถิ่นบางเมืองก็มี ให้อธิบายเทียบกับมาตราวัดของไทย (ทั้งแบบโบราณและแบบปัจจุบัน)  ให้ชัดเจนว่าเป็นอย่างไร เช่น โยชน์ คาวุต องคุลี ทะนาน ธนู บาท ลัดนิ้วมือ ฯลฯ
         14. เนื้อหาที่แปลบางเรื่องตรงกับนิทานอีสปหรือนิทานท้องถิ่นในสังคมอื่น ๆ  ก็สามารถแลกเปลี่ยนทัศนะในแง่มุมต่าง ๆ ได้
         15. เนื้อหาที่แปลบางเรื่องเป็นธรรมเนียมพราหมณ์หรือฮินดูเก่า เนื้อหาบางตอนอาจเป็นคติหรือเนื้อหาจากภารตยุทธ์ ควรช่วยกันมองและแยกแยะออกมาให้ได้ อย่าสรุปเหมารวมว่าเป็นคำสอนในทางพระพุทธศาสนาทั้งหมด



ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม1 : Download? ( 266.52 kb )
ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม2 : Download? ( 12 kb )
ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม3 : Download? ( 12 kb )
ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม4 : Download? ( 12 kb )
ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม5 : Download? ( 12 kb )
ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม6 : Download? ( 12 kb )
ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม7 : Download? ( 12 kb )
ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม8 : Download? ( 12 kb )

เขียนเมื่อ 13 ตุลาคม 2557 | อ่าน 8912
เขียนโดย นายธฤญเดชา ลิภา

 
ตอบคำถาม ไม่มีคำว่า "ภาษาบาลี" ในพระไตรปิฎก
2/5/2561
อ่าน 15884
 
ความสำคัญของภาษาบาลี
17/9/2559
อ่าน 39776
 
การศึกษาบาลีในประเทศไทย มีผู้เกี่ยวข้องอยู่หลายส่วน
22/8/2559
อ่าน 9404
 
ขออาราธนาเจ้าคณะจังหวัด พระสังฆาธิการทุกระดับ เปิดสอนบาลีฆราวาส ปี 2559 เป็นต้นไป
24/10/2558
อ่าน 10310
 
ข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงงานบาลีของประเทศไทย สำหรับกองบาลีสนามหลวงและมหาเถรสมาคม
21/12/2557
อ่าน 13700
 
เรื่องที่ชาวพุทธ ควรช่วยกันพิจารณา เวลาไปเยี่ยมชมสังเวชนียสถานและโบราณสถานต่าง ๆ ในประเทศอินเดีย
13/1/2559
อ่าน 5848
 
สอนบาลีอย่างไร จึงจะไม่โกรธ
17/3/2558
อ่าน 8275
 
ทำอย่างไร เมื่อสอบตกบาลี
14/3/2558
อ่าน 10806
 
100 ทำเนียบนักบาลีไทย ผู้เปี่ยมด้วยเกียรติยศอันทรงคุณค่ายิ่ง
23/1/2558
อ่าน 5745
 
ปี 2558 ร่วมคิด ร่วมสร้าง ร่วมออกแบบการจัดการศึกษาพระพุทธศาสนาสำหรับชาวพุทธใหม่
31/12/2557
อ่าน 5621
 
 
ทั้งหมด 35 รายการ 1 / 4
 
 
แปลยกศัพท์ธรรมบทออนไลน์ 8 ภาค สำหรับบาลีศึกษา/ประโยค 1-2
 
โรงเรียนพระปริยัติธรรมวัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร ศึกษาภาษาบาลีออนไลน์
 
เรียนบาลีเบื้องต้น ปทรูปสิทธิ อภิธานวรรณนา ในรูปแบบ pdf html และ mp3 โดยพระมหาสมปอง มุทิโต
 
เรียนภาษาบาลีกับพระมหาประนอม ธมฺมาลงฺกาโร ผ่าน youtube ดูเป็นตอน ๆ 1- 30 ตอน
 
รวมความรู้ไวยากรณ์บาลี กัจจายนปกรณ์ ธรรมะทั่วไป และสาระบาลีต่าง ๆ
 
สำนักเรียนดีเด่น เปิดสอนบาลีสำหรับพระภิกษุสามเณรทุกชั้น ตั้งแต่ ประโยค 1-2 ถึง ป.ธ.9
 
วัดท่ามะโอ ลำปาง สำนักปฏิบัติธรรม และสำนักเรียนบาลีใหญ่
 
เพื่อการศึกษาพระธรรมจากคัมภีร์บาลี เรียนรู้ปทรูปสิทธิ
 
โครงการสร้างพระภิกษุสามเณรจากอินเดียกว่า 2,000 รูป เพื่อกลับไปฟื้นฟูพระพุทธศาสนาประเทศอินเดียในระยะยาว
 
วีดีโอสอนแปลบาลีธรรมบท ประโยค 1-2 โดย อ.กรภพ วัดพระเจ้าตนหลวง อธิบายง่าย เข้าใจง่าย
 
  ดูวีดีโออื่นๆ  
อาจารย์ปรีชา  แก้วทาสี
ปทรูปสิทธิ
  ดูทั้งหมด  
กัจจายนสูตร MP3
สนฺธิกณฺฑ ๑-๕
สนฺธิกณฺฑ ๒-๕
สนฺธิกณฺฑ ๓-๕
สนฺธิกณฺฑ ๔-๕
สนฺธิกณฺฑ ๕-๕
นามกณฺฑ ๑-๕
นามกณฺฑ ๒-๕
นามกณฺฑ ๓-๕
นามกณฺฑ ๔-๕
นามกณฺฑ ๕-๕
การกกณฺฑ ๑-๑
สมาสกณฺฑ ๑-๑
ตทฺธิตกณฺฑ ๑-๑
อาขฺยาตกณฺฑ ๑-๔
อาขฺยาตกณฺฑ ๒-๔
อาขฺยาตกณฺฑ ๓-๔
อาขฺยาตกณฺฑ ๔-๔
กิพฺพิธานกณฺฑ ๑-๕
กิพฺพิธานกณฺฑ ๒-๕
กิพฺพิธานกณฺฑ ๓-๕
กิพฺพิธานกณฺฑ ๔-๕
กิพฺพิธานกณฺฑ ๕-๕
อุณาธิกณฺฑ ๑-๑
สุตฺตสงฺคหคาถา
กจฺจายนสุตฺตปาโฐ (รวมทุกกัณฑ์)
 
 
 

มหาบาลีวิชชาลัย วัดโมลีโลกยาราม ถนนวังเดิม เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพฯ 10600
โทร. 0-2472-8147, 099-2468-986, 086-7962-617, 089-6601-464
E-mail : พัฒนาเว็บไซต์โดย สถาบันเทคโนโลยีพุทธบริษัท Developed by Buddhist Institute of Technology Thailand (BIT THAILAND)