ความสำคัญของภาษาบาลี


ความสำคัญของภาษาบาลี

พุทฺธวจนํ เตปิฏกํ ปาเลตีติ ปาลิ
ภาษาใด รักษาไว้ซึ่งพระดำรัสของพระพุทธเจ้าคือพระไตรปิฎก ภาษานั้น ชื่อว่า ภาษาบาลี



ชาวชมพูทวีปมีหลายชาติพันธุ์และสื่อสารกันหลายภาษา เฉพาะในรัฐมคธซึ่งเป็นรัฐที่ใหญ่และเข้มแข็งในสมัยพุทธกาล มีกลุ่มคนที่พูดภาษาท้องถิ่นหลายภาษา และมีภาษาหนึ่งที่ใช้พูดกันอย่างแพร่หลายทั้งในระดับชาวบ้านและชนชั้นสูงต่าง ๆ ในรัฐมคธและรัฐใกล้เคียง คนสมัยหลังเรียกภาษานี้ว่า มาคธี-ภาษามคธ (ภาษาที่ใช้พูดกันในรัฐมคธ)


ภาษามคธนี้ ได้รับอิทธิพลและผสมผสานกับภาษาถิ่นอื่นๆ ในสมัยนั้นและในสมัยต่อ ๆ มา ปัจจุบันเจือจางผสมปนเปไปเป็นภาษาถิ่นอื่น ๆ ของอินเดียจนไม่เหลือสภาพภาษามคธแบบดั้งเดิม แล้ว แม้จะยังมีคำศัพท์ที่มีความเหมือนและคล้ายคลึงกันอยู่ไม่น้อย แต่ก็ไม่อาจบอกได้ว่า นี่คือภาษามคธแบบเดิม เพราะภาษาพูดของมนุษย์ย่อมมีการแปรเปลี่ยนไปอยู่เสมอ ทั้งรูปคำ สำเนียง ความหมาย รวมทั้งวิธีการเขียนและอักขระที่ใช้เขียนด้วย


พระพุทธเจ้าทรงใช้ภาษาของชาวมคธนี้เป็นภาษาหลักในการเผยแพร่คำสอนของพระองค์ เพราะเป็นภาษาที่ออกเสียงง่าย เข้าใจง่าย และใช้กันแพร่หลาย (ในรัฐมคธและรัฐใกล้เคียงอื่น ๆ ในสมัยนั้น) ไม่มีข้อจำกัดหรือการหวงห้ามว่าภาษานี้ใช้ได้เฉพาะกลุ่มชนใดกลุ่มชนหนึ่งเหมือนภาษาสันสกฤตที่มีข้อห้ามและจำกัดการใช้เฉพาะชนบางกลุ่มบางพวก


เมื่อพระภิกษุในพระพุทธศาสนาไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในประเทศต่าง ๆ ก็นำภาษานี้ไปเผยแพร่ด้วย แต่คงไม่ได้นำรูปแบบและข้อกำหนดทางภาษาไปด้วยทั้งหมด คงจะมีการตัดทอนหรือปรับแต่งบ้าง เพื่อให้กระชับและเหมาะสมกับการจำและสืบทอดคำสอนของพระพุทธเจ้าตามวิธีมุขปาฐะ (จำด้วยใจและทบทวนด้วยปากเปล่า) แม้คำสอนของพระพุทธเจ้าจะได้รับการแปลเป็นภาษาท้องถิ่นต่าง ๆ แต่ชาวพุทธสมัยโบราณก็เปี่ยมด้วยวิสัยทัศน์ จึงไม่ทิ้งบาลีต้นฉบับ คือช่วยกันรักษาภาษาต้นฉบับนี้เอาไว้เพื่อตรวจสอบเทียบเคียงอยู่เสมอ ๆ


พระพุทธศาสนาในอินเดียเสื่อมโทรมลงเป็นระยะ ๆ ด้วยเหตุปัจจัยต่าง ๆ และในราวปี พ.ศ. 800-1,100  พระภิกษุชาวอินเดียรูปหนึ่งชื่อพุทธโฆสะไปประเทศลังกา (สีหฬ) ได้จัดการรวบรวม เลือกสรร และแปลคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาต่าง ๆ จากภาษาท้องถิ่น (ภาษาสีหฬในสมัยนั้น) กลับมาเป็นภาษามคธ


ในระยะเวลาต่อมา คนที่พูดภาษามคธนี้ค่อย ๆ หมดอิทธิพลในระดับรัฐ ภาษานี้จึงค่อย ๆ ถูกกลืนกลายเลือนหายผสมปนเปไปเป็นภาษาอื่น ๆ แม้คัมภีร์ตำราทางพระพุทธศาสนาต่าง ๆ ที่อยู่ในอินเดียก็ถูกทำลายและหายสาบสูญไปในสมัยต่อ ๆ มา แต่ต้นฉบับคำสอนทางพระพุทธศาสนาในลังกายังได้รับการรักษาเป็นอย่างดีและได้มีการคัดลอกและส่งต่อมายังภูมิภาคที่เป็นประเทศเมียนม่าร์ ไทย เขมร สิบสองปันนา ในปัจจุบันเป็นระยะ ๆ ด้วย


เพราะภาษาที่ว่านี้ ไม่มีคนพูดกันแล้วในประเทศอินเดียในสมัยต่อมาจนถึงปัจจุบัน และภาษานี้ใช้บันทึกคำสอนของพระพุทธเจ้า ชาวพุทธในยุคต่อมาจึงเรียกว่า ปาฬิ/ปาลิ (พระบาฬี/พระบาลี) และภายหลังคนจึงเรียกว่า ภาษาบาลี ซึ่งแปลว่า ภาษาที่รักษาคำสอนของพระพุทธเจ้า


เพราะภาษานี้รักษาคำสอนของพระพุทธเจ้า ชาวพุทธในประเทศต่าง ๆ จึงถือเป็นภาระธุระอย่างสำคัญยิ่งในการดูแลรักษา ถ่ายทอด ส่งต่อ และศึกษาภาษานี้เพื่อจะได้เข้าใจว่า พระพุทธเจ้าสอนอะไร แล้วนำมาปฏิบัติตามเพื่อให้ชีวิตของตนเองได้บรรลุถึงประโยชน์ที่ควรจะได้รับในโอกาสที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์และได้พบพระพุทธศาสนา  

คัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาทั้งพระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา และสัททาวิเสสต่าง ๆ ของกลุ่มประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาแบบเถรวาท ได้แก่ ประเทศไทย พม่า ศรีลังกา เขมร ลาว มีจุดที่ผิดแผกแตกต่างกันน้อยมาก เรียกได้ว่า บรรพชนของประเทศต่าง ๆ เหล่านี้ ต่างมีความสามารถในการรักษาพระบาลีนี้ได้ดีไม่แพ้กัน มีการติดต่อสัมพันธ์ ศึกษาและตรวจทานความถูกต้องของบาลีฉบับต่าง ๆ ในประเทศของตนเองกับต้นฉบับบาลีของกลุ่มประเทศเถรวาทด้วยกันเป็นระยะ ๆ อยู่เสมอ


ความสำคัญของภาษาบาลี

๑.  ความสำคัญต่อพระพุทธศาสนา  ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน คำสอนของพระพุทธเจ้า ได้รับการรักษาและสืบต่อกันมาในรูปแบบของภาษาที่คนยุคปัจจุบันเรียกว่าภาษาบาลี คำสอนของพระพุทธเจ้าในรูปแบบภาษาบาลีนี้ ชาวพุทธในประเทศต่าง ๆ ได้ศึกษาและแปลเป็นภาษาท้องถิ่นของตนเรื่อยมา  ในบางครั้งก็อาจมีการแปลผิดพลาดได้และคำสอนของพระพุทธเจ้าที่แปลเป็นภาษาท้องถิ่นนั้น ความหมายอาจจะแปรเปลี่ยนไปและไม่ตรงกับความเป็นจริงดังที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ก็ได้ ทั้งนี้เพราะความนิยมทางภาษาของคนในท้องถิ่นนั้น ๆ ที่มีการปรับเปลี่ยนไปอยู่เสมอ ๆ แต่ถ้ามีต้นฉบับบาลีไว้ คนยุคต่อ ๆ ไปสามารถศึกษาและตรวจทานกับต้นฉบับบาลีได้เสมอ ทำให้ความรู้ต่าง ๆ ทางพระพุทธศาสนามีความมั่นคงและแน่นอนกว่าการรักษาคำสอนของพระพุทธเจ้าด้วยภาษาท้องถิ่นเพียงอย่างเดียว ตัวอย่างคำสอนของพระพุทธเจ้าที่รักษาไว้ด้วยรูปแบบภาษาบาลีเช่น
                      (บาลี) ทุนฺนิคฺคหสฺส ลหุโน   ยตฺถกามนิปาติโน
                               จิตฺตสฺส ทมโถ สาธุ    จิตฺตํ ทนฺตํ สุขาวหํ

                     (แปล) การฝึกจิต (อันข่มได้ยาก,เกิดและดับเร็ว, 
                                มีธรรมชาติไหลไปตามความอยากในสิ่งต่างๆ)
                                เป็นสิ่งดี, จิตที่ได้รับการฝึกแล้ว นำความสุขมาให้
(คำแปลนั้น คนในท้องถิ่นนั้น ๆ จะแปลออกเป็นสำนวนอย่างไรก็ได้ แต่ต้นฉบับคำสอนของพระพุทธเจ้าที่เป็นภาษาบาลีนั้นยังคงเดิม ไม่มีการเปลี่ยนแปลง)


๒.  ความสำคัญต่อความเป็นชาวพุทธ  ในพิธีสังฆกรรมสำคัญ ๆ ทางพระพุทธศาสนา ล้วนต้องใช้ภาษาบาลี สังฆกรรมนั้น ๆ จึงจะสำเร็จได้ เช่น เวลาผู้ชายบวชเป็นพระภิกษุ พิธีในการบวชทุกขั้นตอนจะต้องใช้ภาษาบาลี ต้องทำเป็นภาษาบาลี ถ้าไม่มีภาษาบาลี การบวชของพระภิกษุสามเณรในพระพุทธศาสนาก็จะไม่สมบูรณ์  แม้พิธีผูกสีมา (สร้างโบสถ์) ก็ต้องใช้ภาษาบาลี ถ้าไม่มีภาษาบาลี (หรือแม้มีภาษาบาลี แต่ใช้ผิด ๆ) ก็จะไม่สามารถเป็นโบสถ์ที่สามารถใช้ประกอบพิธีบวชพระภิกษุได้ ฯลฯ


๓.  ความสำคัญต่อตัวบุคคล  เนื่องจากคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นการออกแบบระบบและสภาพแวดล้อมทางสังคมในรูปแบบที่เน้นพรหมวิหารธรรมอย่างสมบูรณ์ทุกระดับ เป็นสภาพแวดล้อมที่มุ่งให้เกื้อกูลต่อการการพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ให้บรรลุถึงขีดสูงสุด และเป็นการใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่าโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อความเข้าใจชีวิต เข้าใจโลกอย่างจริงแท้ และมุ่งให้ผู้ปฏิบัติตามหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวงคือหมดสิ้นโลภะ โทสะ โมหะโดยสิ้นเชิง ถ้าบุคคลต่าง ๆ ได้รับคำสอนที่ถูกต้อง (ที่สืบทอดและตรวจทานความถูกต้องมาด้วยภาษาบาลี) การปฏิบัติของบุคคลนั้น ๆ ก็จะตรง มั่นคงและสามารถบรรลุผลสำเร็จได้จริง


๔.  ความสำคัญต่อประเทศไทย  บรรพชนมนุษย์ในดินแดนที่เรียกว่าประเทศไทยในปัจจุบันนี้ ได้นับถือพระพุทธศาสนามาอย่างยาวนาน ขนบธรรมเนียม ประเพณี วิถีปฏิบัติของชาวไทยจึงแนบแน่นกับพระพุทธศาสนาในแทบทุกมิติตั้งแต่เกิดจนตาย เช่น การทำบุญวันเกิด การสร้างวัด พิธีทำบุญในวันต่าง ๆ วันครบรอบอายุต่าง ๆ การทำบุญบ้าน การทำบุญในพิธีแต่งงาน การตั้งชื่อ-นามสกุล ตั้งชื่ออาคารสถานที่ต่าง ๆ การออกแบบศิลปะต่าง ๆ ออกแบบสัญลักษณ์ต่าง ๆ ฯลฯ คำสอนของพระพุทธเจ้าได้หล่อหลอมให้ชาวไทยมีความงดงามทั้งด้านจิตใจและการดำรงชีพเสมอมา ชาวไทยจึงมักได้รับการเรียกขานว่า เป็นผู้มีใจบุญ เป็นคนมีเมตตา และเรียกประเทศไทยว่า สยามเมืองยิ้ม อันเป็นผลจากการได้สัมผัสเกี่ยวข้องขัดเกลาผ่านทางพระพุทธศาสนาตลอดมาจนถึงปัจจุบันนั่นเอง


เมื่อชาวพุทธเห็นว่า ภาษาบาลีคือภาษาที่บันทึกและรักษาคำสอนของพระพุทธเจ้าเช่นนี้แล้ว จึงเป็นหน้าที่ของชาวพุทธทุกคนที่จะต้องเรียนรู้ภาษาบาลีให้เข้าใจและนำมาปฏิบัติให้ได้ พร้อม ๆ กันนั้น หากผู้ใดมีความสามารถมากเพียงพอก็ต้องทำหน้าที่เผยแพร่บอกสอนภาษาบาลีนี้ให้อนุชนคนรุ่นต่อ ๆ ไปด้วย


ถ้าจะเปรียบเทียบกับร่างกายของคนเราแล้ว ภาษาบาลีก็เปรียบเหมือนเลือดในร่างกาย เลือดของพระพุทธศาสนาคือภาษาบาลี ถ้าร่างกายคนเราขาดเลือด เลือดมีปัญหา หรือกระแสเลือดติดเชื้อร้าย ก็ยากที่ร่างกายนี้จะอยู่ได้เป็นปกติ เช่นกัน ถ้าพระพุทธศาสนาขาดภาษาบาลีหรือชาวพุทธไม่รู้ภาษาบาลีดีพอ ก็ยากที่พระพุทธศาสนาจะอยู่ได้ ดังนั้นชาวพุทธทุกคนจึงต้องควรได้เรียนภาษาบาลี เรียนไปตลอดชีวิต เรียนโดยไม่ท้อแท้ ไม่เหนื่อยหน่าย เรียนให้ตรงต่อจุดมุ่งหมายของพระพุทธศาสนา นี่แหละจึงจะถือว่าเป็นพุทธศาสนทายาทที่ดี เพราะชาวพุทธทุกคนล้วนเป็นพุทธศาสนทายาททั้งนั้น ไม่ใช่ไปจำกัดว่า คนที่บวชเท่านั้นจึงจะเป็นศาสนทายาท ชาวพุทธทุกคนมีหน้าที่และสามารถสืบทอดพระพุทธศาสนาได้ สามารถส่งต่อพระพุทธศาสนาสู่คนรุ่นต่อไปได้ และสามารถศึกษาและเข้าถึงประโยชน์ที่ตนเองพึงได้รับจากพระพุทธศาสนาด้วยการปฏิบัติด้วยตนเองได้ทุกคน
 



ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม1 : Download? ( 387.81 kb )
ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม2 : Download? ( 12 kb )
ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม3 : Download? ( 12 kb )
ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม4 : Download? ( 12 kb )
ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม5 : Download? ( 12 kb )
ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม6 : Download? ( 12 kb )
ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม7 : Download? ( 12 kb )
ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม8 : Download? ( 12 kb )

เขียนเมื่อ 17 กันยายน 2559 | อ่าน 39782
เขียนโดย นายธฤญเดชา ลิภา

 
เรียนบาลีไปทำไม
10/8/2555
อ่าน 9619
 
แนวปฏิบัติเพื่อให้เรียนบาลีประสบผลสำเร็จ
10/8/2555
อ่าน 5940
 
ถาม-ตอบ เรื่องเรียนบาลี
10/8/2555
อ่าน 6474
 
ชาวไทย มาเรียนบาลีเป็นประเพณี
10/8/2555
อ่าน 5187
 
เรียนบาลี ยากไหม
10/8/2555
อ่าน 9085
 
 
ทั้งหมด 35 รายการ 4 / 4
 
 
แปลยกศัพท์ธรรมบทออนไลน์ 8 ภาค สำหรับบาลีศึกษา/ประโยค 1-2
 
โรงเรียนพระปริยัติธรรมวัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร ศึกษาภาษาบาลีออนไลน์
 
เรียนบาลีเบื้องต้น ปทรูปสิทธิ อภิธานวรรณนา ในรูปแบบ pdf html และ mp3 โดยพระมหาสมปอง มุทิโต
 
เรียนภาษาบาลีกับพระมหาประนอม ธมฺมาลงฺกาโร ผ่าน youtube ดูเป็นตอน ๆ 1- 30 ตอน
 
รวมความรู้ไวยากรณ์บาลี กัจจายนปกรณ์ ธรรมะทั่วไป และสาระบาลีต่าง ๆ
 
สำนักเรียนดีเด่น เปิดสอนบาลีสำหรับพระภิกษุสามเณรทุกชั้น ตั้งแต่ ประโยค 1-2 ถึง ป.ธ.9
 
วัดท่ามะโอ ลำปาง สำนักปฏิบัติธรรม และสำนักเรียนบาลีใหญ่
 
เพื่อการศึกษาพระธรรมจากคัมภีร์บาลี เรียนรู้ปทรูปสิทธิ
 
โครงการสร้างพระภิกษุสามเณรจากอินเดียกว่า 2,000 รูป เพื่อกลับไปฟื้นฟูพระพุทธศาสนาประเทศอินเดียในระยะยาว
 
วีดีโอสอนแปลบาลีธรรมบท ประโยค 1-2 โดย อ.กรภพ วัดพระเจ้าตนหลวง อธิบายง่าย เข้าใจง่าย
 
  ดูวีดีโออื่นๆ  
อาจารย์ปรีชา  แก้วทาสี
ปทรูปสิทธิ
  ดูทั้งหมด  
กัจจายนสูตร MP3
สนฺธิกณฺฑ ๑-๕
สนฺธิกณฺฑ ๒-๕
สนฺธิกณฺฑ ๓-๕
สนฺธิกณฺฑ ๔-๕
สนฺธิกณฺฑ ๕-๕
นามกณฺฑ ๑-๕
นามกณฺฑ ๒-๕
นามกณฺฑ ๓-๕
นามกณฺฑ ๔-๕
นามกณฺฑ ๕-๕
การกกณฺฑ ๑-๑
สมาสกณฺฑ ๑-๑
ตทฺธิตกณฺฑ ๑-๑
อาขฺยาตกณฺฑ ๑-๔
อาขฺยาตกณฺฑ ๒-๔
อาขฺยาตกณฺฑ ๓-๔
อาขฺยาตกณฺฑ ๔-๔
กิพฺพิธานกณฺฑ ๑-๕
กิพฺพิธานกณฺฑ ๒-๕
กิพฺพิธานกณฺฑ ๓-๕
กิพฺพิธานกณฺฑ ๔-๕
กิพฺพิธานกณฺฑ ๕-๕
อุณาธิกณฺฑ ๑-๑
สุตฺตสงฺคหคาถา
กจฺจายนสุตฺตปาโฐ (รวมทุกกัณฑ์)
 
 
 

มหาบาลีวิชชาลัย วัดโมลีโลกยาราม ถนนวังเดิม เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพฯ 10600
โทร. 0-2472-8147, 099-2468-986, 086-7962-617, 089-6601-464
E-mail : พัฒนาเว็บไซต์โดย สถาบันเทคโนโลยีพุทธบริษัท Developed by Buddhist Institute of Technology Thailand (BIT THAILAND)