การศึกษาบาลีในประเทศไทย มีผู้เกี่ยวข้องอยู่หลายส่วน


1. คน/องค์กรจัดการศึกษาบาลี

ต้องพูดกันตรงๆ ว่า ไม่มีคน/องค์กรจัดการศึกษาบาลีในประเทศไทย มีแต่คนจัดสอบเท่านั้น
การขาดองค์กรจัดการศึกษาบาลีของคณะสงฆ์ จึงเป็นต้นเหตุความล้มเหลวทั้งหมดของระบบการศึกษาของสงฆ์ไทย
เพราะคน/องค์กรจัดการศึกษาไม่มี จึงไม่มีการพัฒนา ไม่มีการปรับปรุงระบบ ไม่มีการปรับปรุงหลักสูตร ไม่มีการสร้างนโยบายใหม่ ๆ ไม่มีการประเมินผลที่เน้นวัตถุประสงค์ไปที่จุดมุ่งหมายของพระพุทธศาสนา ไม่มีคนออกแบบและบริหารนโยบายการศึกษา และไม่มีคนจัดทำหลักสูตรและจัดการศึกษาที่เหมาะสมสำหรับกลุ่มชาวพุทธในแต่ละวัยแต่ละกลุ่มทั่วทั้งประเทศ

คนจำนวนมาก มักเข้าใจว่า

ก. สนามหลวงแผนกบาลี ที่มีแม่กองบาลีสนามหลวงเป็นผู้รับผิดชอบคือคนจัดการศึกษาซึ่งแท้จริงแล้วก็ควรจะเป็นอย่างนั้น แต่โดยสภาพจริงไม่ใช่เช่นนั้นเลย สนามหลวงแผนกบาลี ไม่ได้จัดการศึกษาบาลีเลย (ทำไม? จะยังไม่พูดถึงในที่นี้) สนามหลวงแผนกบาลี ทำหน้าที่แค่จัดสอบเท่านั้น และไม่พัฒนาระบบการจัดสอบ การวัดผลอะไรเลยอีกเช่นกัน

ข. เจ้าสำนักเรียน คือคนจัดการศึกษา เพราะเชื่อกันว่าเจ้าสำนักเรียนคือคนจัดการศึกษา จึงพากันทิ้งภาระทุกอย่างให้กับเจ้าสำนักเรียน เจ้าสำนักเรียนจึงต้องรับผิดชอบทุกอย่างในวัด ทั้งหาคนมาเรียน จัดการเรียนการสอน หาอุปกรณ์ตำรา หางบประมาณมาบริหาร จัดการดูแลพระภิกษุสามเณร (สรุปว่าทำทุกอย่าง) ซึ่งระบบสำนักเรียนนี้มักขาดความแน่นอนและสร้างภาระให้รูปใดรูปหนึ่งมากเกินไป และสำนักเรียนทุกสำนักมักจะมีอายุไม่เกิน 60 ปี ก็จะเงียบ อ่อนแรง และสิ้นสภาพลง
ถ้าจะมองว่าเจ้าสำนักเรียนเป็นผู้จัดการศึกษา ก็ไม่ผิดเท่าใดนัก แต่เจ้าสำนักเรียนก็ทำได้แค่ในสำนักเรียนของตัวเองเท่านั้น ไม่ใช่คนบริหารจัดการศึกษาระดับประเทศ ไม่สามารถออกนโยบาย สร้างแผนการทำงาน ระดมทรัพยากร จัดการและกำกับดูแลการศึกษาบาลีของทั้งประเทศได้
คน/องค์กรที่จัดการศึกษาบาลีของคณะสงฆ์นี้ เปรียบเหมือนหน่วยงานแบบกระทรวงศึกษาธิการของประเทศไทยนั่นเอง แต่คณะสงฆ์ประเทศไทยไม่มีหน่วยงานแบบนี้
ถ้ามีคนจัดการศึกษาแล้ว มันจะมีนโยบาย มีแผนงาน มีงบประมาณ มีการหมุนเวียนบุคลากรจากองค์กรกลางส่งไปให้ทำงานอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งประเทศ ไม่ทิ้งให้เป็นภาระของเจ้าสำนักเรียนหรือผู้ใดผู้หนึ่งแบบทุกวันนี้

2. คนเรียนบาลี

ถ้ามองไปที่พระภิกษุสามเณร จำนวนผู้เรียนบาลีจะน้อยลง และเรียนด้วยจุดมุ่งหมายที่ไม่น่านิยม คือไม่ตรงต่อหลักการที่ควรจะเป็นที่เป็นจุดมุ่งหมายของพระพุทธศาสนา ส่วนมากจึงเรียนบาลีเพื่อเป็นทางผ่านเพื่อไปเรียนสิ่งอื่น ๆ เท่านั้น หรือเรียนด้วยความจำใจเพราะถูกบังคับให้เรียน ตนเองไม่มีความชัดเจนในวัตถุประสงค์ในการบวชตั้งแต่แรกว่า บวชมาทำไม เรียนบาลีเพื่ออะไร เรียนบาลีไปทำไม
ข้อเท็จจริงที่สำคัญอย่างหนึ่ง ณ วันนี้ คือพระสงฆ์ส่วนใหญ่(ที่บอกว่าเรียนบาลีนั้น) ก็ไม่มีการเรียนอย่างแท้จริง ไม่เข้าชั้นเรียน ไม่อยากเรียน ไม่สนใจเรียน แต่อยากสอบได้ อยากสอบผ่าน เจ้าคณะพระสังฆาธิการในประเทศไทยจึงไปเน้นจัดกิจกรรมติวเข้มก่อนสอบ ไปจัดอบรมก่อนสอบประมาณ 2 -3 สัปดาห์เท่านั้น (ซึ่งท่านจะถือว่าเป็นงานใหญ่มากของภาคสงฆ์ท่าน ใครไม่เข้าอบรมก่อนสอบ อาจไม่ให้เข้าสอบ อาจถูกตัดสิทธิในการเข้าสอบได้)
ธรรมเนียมนี้เป็นกันทั้งประเทศ และการอบรมบาลีก่อนสอบนี้ คนทั่วไปมักมองกันว่า เป็นการจัดการเรียนการสอน จึงชื่นชมและพึงพอใจกันแค่นี้ แต่ไม่คิดต่อว่า ทำไมไม่จัดการเรียนการสอนตลอดทั้งปีการศึกษา ทำไมมาสนใจเข้มงวดเรื่องติวสอบและเก็งข้อสอบกันแค่ 2-3 สัปดาห์แบบนี้ ไม่สงสัยกันว่า ที่ทำกันอยู่แบบนี้ มันคือการศึกษาพระพุทธศาสนาที่แท้จริงหรือไม่?

การไม่มีกระบวนการเรียนการสอน ไม่มีปฏิสัมพันธ์กับอาจารย์และเพื่อนร่วมชั้น ไม่ได้ร่วมถกร่วมวิจารณ์เนื้อหาที่เรียนทั้งหลักภาษาและหลักธรรมะต่าง ๆ ทำให้ผู้เรียนเสียประโยชน์จากการเรียน เพราะไปเน้นผลการสอบ ระบบทุกอย่างของการเรียนบาลีของสงฆ์ไทยจึงไปเน้นการเก็งข้อสอบ (เก็งถูก ก็สอบผ่านได้มาก เก็งผิด ก็สอบผ่านได้น้อย) และไปเน้นเพียงการอบรมก่อนสอบ 2-3 สัปดาห์เท่านั้น ไม่มุ่งเน้น ไม่สนใจในกระบวนการเรียนการสอน การค้นคว้า การวิเคราะห์วิจารณ์ ซึ่งควรจะมีเวลายาวนานพอสมควร จึงจะเกิดผลดีกับผู้เรียน

ดูตัวอย่างจากการเรียนบาลีของนักเรียนบาลีชั้นต้น ๆ ทุกวันนี้ เช่น ประโยค1-2 วิชาแปลมคธเป็นไทย (แปลอรรถกถาธรรมบท) ทุกวันนี้ ไม่ได้แปลส่วนที่เป็นพระคาถาและแก้อรรถ (คำอธิบายเนื้อหาพระคาถา) เลย ซึ่งพระคาถาและแก้อรรถถือว่าเป็นหัวใจของพระธรรมบทแท้ ๆ แต่ข้ามไปหมด ไปเรียนแปลกันเฉพาะนิทานหรือเรื่องเล่าประกอบพระคาถาเท่านั้น เพราะสนามหลวงแผนกบาลีออกสอบกันแค่ตรงนั้น ก็เลยสนใจเฉพาะสิ่งที่จะเอาไปสอบ ไม่สนใจสิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญของการศึกษาพระธรรมบท (นี่คือหนึ่งในหลายเรื่องที่ควรปรับปรุงของหลักสูตรการเรียนการสอนบาลีในประเทศไทย คือ ไม่มุ่งเน้นในจุดสำคัญ แต่ไปเน้นในเรื่องรองลงไป เป็นผลให้ผู้เรียนขาดความเข้าใจในหลักธรรม)

ผลของระบบการเรียนการสอนแบบนี้ พระสงฆ์จึงมักขาดความเข้าใจในธรรมะ ไม่ลุ่มลึกในหลักธรรม จบเปรียญสูง ๆ ก็อธิบายธรรมตามแนวทางพระพุทธศาสนาไม่ได้ มักใช้การเดาหรือพูดและคิดไปเองเป็นอัตโนมติเสียเป็นส่วนใหญ่ หารูปที่อธิบายหลักธรรมสำคัญ ๆ ได้ยาก เช่น มหา-สติปัฏฐานภาวนาคืออะไร มีไว้ทำไม จะเริ่มต้นสู่การปฏิบัติได้อย่างไร อะไรคือจุดมุ่งหมายของศีล จุดมุ่งหมายของสมาธิ จุดมุ่งหมายของปัญญา จะมีอุบายกำจัดอกุศลวิตกต่าง ๆ ได้อย่างไร ธรรมสามัคคี จะมีขึ้นได้อย่างไร ฯลฯ หลายรูปสอบผ่านเปรียญ 9 แล้ว แต่แยกแยะอธิบายทิฏฐิ 62 ไม่ได้ จึงพากันออกนอกลู่นอกทางไปเรื่อย เวลามีเหตุวิปริตผิดเพี้ยนจากพระธรรมวินัยหรือกรณีมีผู้ทำพระธรรมวินัยให้วิปริต จึงหาคนอธิบายชี้แจงแนะนำเป็นหลักเป็นฐานได้ยาก

เรื่องคนเรียนบาลีนี้ ถ้ามองไปที่ฆราวาสชาวพุทธทั้งประเทศผู้สนใจเรียนมีมากมาย ประชากรชาวพุทธกว่า 40 ล้านคน อยากเรียนกันทั้งนั้น โดยเฉพาะคนที่อยู่ในวัยกลางคน มีครอบครัว มีลูกแล้ว ได้สัมผัสทุกข์สุขต่าง ๆ พอสมควรแล้ว จะหันมาสนใจธรรมะ อยากเรียนบาลีจำนวนมาก แต่เพราะขาดคนจัดการศึกษา ไม่มีใครมองตรงจุดนี้ ไม่พัฒนาหลักสูตร ระบบการเรียนการสอน ระบบการวัดและประเมินผลที่เหมาะสมกับกลุ่มฆราวาสในระดับและวัยต่าง ๆ ชาวพุทธไทยจึงได้เรียนบาลีกันน้อย
พอบอกว่า จะให้ฆราวาสเรียนบาลี ก็ไปยกเอาระบบบาลีสนามหลวงนั่นเองไปให้ฆราวาสเรียน ซึ่งหลาย ๆ อย่างไม่เหมาะสม ไม่จูงใจ ระบบไม่ทันสมัย ซึ่งจริง ๆ แล้วเรื่องบาลี มีหลายอย่างมีหลายหลักสูตรที่สามารถพัฒนาให้เหมาะสมกับผู้เรียนแต่ละกลุ่มได้ แต่พระสงฆ์ไทย เมื่อให้ฆราวาสเรียนบาลี ก็ไม่คิดถึงการพัฒนาหลักสูตรบาลีอะไรอื่นขึ้นมาเลย มุ่งไปที่บาลีสนามหลวงเท่านั้น และก็ใช้ระบบตามแบบที่ตัวเองทำกันอยู่นั้นเองกับฆราวาสผู้สนใจเรียนบาลี
ปัจจุบันชาวพุทธจำนวนมาก ไม่ได้คิดว่า บาลียาก หรือน่าเบื่อหน่ายแต่อย่างใด แต่ที่รู้สึกว่ายาก ไม่อยากเรียน เพราะคนที่จัดการศึกษาไม่มี และระบบของสนามหลวงแผนกบาลีที่มีอยู่ มันทำให้ยุ่งยาก ระบบไม่ทันสมัย มันจึงน่าเบื่อหน่าย แทนที่จะสร้างศรัทธา ดึงคนมาเรียนให้มาก ๆ ระบบปัจจุบันกลับทำสิ่งตรงกันข้าม คนที่มารู้เห็นระบบแบบนี้ก็เหนื่อยหน่าย เลิกล้มความตั้งใจไปก็มาก

3. คนสอนบาลี 

คนสอนบาลี พอมีอยู่ พระภิกษุผู้มีความรู้ดี ๆ พร้อมจะอุทิศตนเองสอนบาลีพอมีอยู่ แต่ถ้านโยบายและแผนงานการศึกษาบาลีระดับบนสุดของประเทศไม่ชัดเจน ไม่ใช่การศึกษาที่มุ่งตรงต่อการรักษาพระธรรมวินัยอย่างแท้จริง และไม่มีงบประมาณสนับสนุนอย่างต่อเนื่องและเพียงพอแล้ว ก็ยากที่ครูผู้สอนบาลีจะทำอะไรได้มากมาย ผู้สอนบาลีจึงทำหน้าที่ได้เพียงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น คืออยู่ในช่วงอายุประมาณ 25-50 ปี (ส่วนมากจะทำหน้าที่สอนบาลีรูปละประมาณ 3-16 ปีเท่านั้น) หลังจากนั้นก็จะเริ่มหมดไฟ ขาดกำลังใจ เหนื่อยหน่าย จึงเลิกสอน ไปทำอย่างอื่นแทน
ผู้สอนบาลี มักฝึกกันเองแบบตามมีตามเกิด ไม่มีสถาบันผลิตครูบาลีและไม่มีหลักสูตรการเรียนเพื่อมาเป็นผู้สอนบาลีโดยตรง คุณภาพของผู้สอนจึงมีปัญหาค่อนข้างมาก
และมีสิ่งที่ต้องสังเกตุ ผู้สอนบาลีจำนวนมาก ไม่สร้างสรรค์ผลงาน ไม่ค้นคว้าเรียบเรียงงานอะไรขึ้นมา ซึ่งจริงๆ สิ่งที่สอนนั้น ยังมีเรื่องให้ค้นคว้าเพิ่มเติมและนำเสนอได้มากมาย คนที่สอนบาลีมา 5 ปี แต่ไม่มีผลงานในทางวิชาการ ไม่มีงานวิจัยค้นคว้าอะไรออกมาเลย จึงควรจัดว่า ยังเป็นครูสอนบาลีที่ดีไม่ได้

4. สำนักเรียนบาลี (โรงเรียนบาลี)

การชูสำนักเรียนให้เด่นที่สงฆ์ประเทศไทยทำกันมาอย่างยาวนาน มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อเสียคือทำให้สงฆ์ไม่ช่วยเหลือกันเท่าที่ควร เพราะติดกับภาพความเป็นเจ้าของของสำนักเรียน คือวัดอื่น ๆ ที่อยู่ใกล้ๆ กัน จะไปส่งเสริมสำนักเรียนอื่น ก็จะมองกันว่า คนที่ได้ประโยชน์คือเจ้าของสำนักเรียนแห่งนั้น ไม่ใช่วัดรอบข้างที่มาส่งเสริม ก็เลยไม่ช่วยเหลือกันเท่าที่ควร

ที่ผ่าน ๆ มา วัดไทยจึงทำสำนักเรียนแข่งกัน แม้จะมีรั้วกำแพงติดกัน ก็แข่งกัน ไม่รวมตัวกันจัดการการเรียนการสอนด้วยกัน แต่มักแย่งคนเรียน แย่งครูสอน แย่งศรัทธาญาติโยมผู้มาอุปถัมภ์กันเสียเอง

ตัวอย่างปัญหาที่พบเห็นบ่อยคือ วัดที่เป็นสำนักเรียนจะมีพระภิกษุสามเณรมาอาศัยอยู่อย่างแออัดยัดเยียด แต่วัดอื่น ๆ รอบข้างในระยะรัสมี 5 กม. มีกุฏิว่างมากมายสามารถอยู่ได้สบาย ๆ  แต่ไม่สามารถจะแบ่งปันและกระจายพระภิกษุสามเณรไปอยู่ในวัดรอบข้างนั้น ๆ แล้วมาเรียนร่วมกันได้ วัดไทยมักขาดความสามารถในการใช้ทรัพยากรร่วมกัน วัดที่เป็นสำนักเรียนจึงต้องประกาศให้ญาติโยมหาเงินทุนมาสร้างกุฏิ สร้างอาคารเรียนใหม่เรื่อย ๆ ซึ่งกุฏิและอาคารเรียนนั้น บางทีวัดข้าง ๆ ก็มีอยู่แล้วและแทบไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไรเลย แต่ไม่สามารถใช้งานร่วมกันได้ และเมื่อวัดที่เป็นสำนักเรียนสิ้นสภาพลง (ระยะเวลาประมาณไม่เกิน 60 ปี) เพราะหมดยุคสมัยของเจ้าสำนักเรียนที่เอาจริงเอาจัง กุฏิและอาคารเรียนเหล่านี้ก็จะถูกปล่อยทิ้งไป ไม่ได้ใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่าอย่างที่ควรจะเป็น ส่วนหนึ่งเพราะสงฆ์ประเทศไทยยังไม่พัฒนาระบบและมาตรการการประเมินการใช้สอยทรัพยากรของแต่ละวัดว่า ใช้งานได้เหมาะสมคุ้มค่าเพียงพอหรือไม่ ดังนั้น แต่ละวัดจึงมีแต่การแข่งขันกันสร้างอาคารใหม่ ๆ สิ่งก่อสร้างใหม่ ๆ ไปเรื่อย ๆ

อนึ่ง จุดด้อยที่สำคัญของระบบสำนักเรียนคือ เมื่อขาดเจ้าสำนักเรียนที่แข็งขันเอาจริงเอาจัง หรือเจ้าสำนักเรียนอยู่ในวัยชรา หมดแรง สำนักเรียนนั้นก็จะล้มไป กิจกรรมการเรียนการสอนก็จะหมดไป กลายเป็นเพียงวัดธรรมดา ๆ ไม่มีการเรียนการสอน

เรื่องนี้เป็นมายาวนานกว่า 80 ปีแล้ว แต่ยังไม่มีการจัดการแก้ไขจากผู้บริหารกิจการพระพุทธศาสนา
ที่ถูก ควรยุติบทบาทของสำนักเรียน แล้วทำให้เป็นสถาบันการศึกษาของสงฆ์เหมือนโรงเรียน(ที่กระจายอยู่ตามจังหวัดต่าง ๆ) จะมีโอกาสเดินหน้าต่อไปได้แบบไม่สะดุดมากกว่ารูปแบบสำนักเรียน เพราะมีคนจัดการระดับประเทศ เหมือนโรงเรียนไทยในจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ มีงบประมาณ มีครู มีแบบแผนส่งไปให้จากส่วนกลาง โรงเรียนก็อยู่ได้ยาวนาน

5. นักค้นคว้าบาลีอิสระ/นักศึกษาบาลีด้วยตัวเอง

นักบาลีเก่า มหาเปรียญลาพรต หรือกลุ่มชาวพุทธคนที่รักบาลีจริง ๆ ที่สนใจแสวงหาความรู้ทางบาลีแบบส่วนตัว และบางท่านก็เผยแพร่สิ่งที่ได้ศึกษาค้นคว้าแบบเงียบ ๆ ด้วยตนเอง คนกลุ่มนี้เริ่มมีมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ก็ไม่มีอิทธิพลมากพอถึงขนาดจะไปจัดการศึกษาในระดับโครงสร้างการศึกษาบาลีของคณะสงฆ์ได้
อย่างไรก็ตาม คนกลุ่มนี้ถือว่าเป็นความงดงามและเป็นความสุขส่วนบุคคลที่น่าจับตามอง ถ้ามีการรวมตัวกันมาก ๆ อาจจะช่วยพลิกระบบการศึกษาบาลีของประเทศได้

6. คนอุปถัมภ์การเรียนบาลี

คนอุปถัมภ์การเรียนบาลี มีเยอะมาก ไม่น่าห่วง ชาวพุทธไทยศรัทธามากล้น เจ้าสำนักเรียนจะสร้างอาคารเรียนใหม่ใหญ่ขนาดไหน จะซื้อที่ขยายวัดเพิ่มให้กว้างขวางขนาดไหน ขอให้ประกาศชาวพุทธไทยมักไม่อั้นศรัทธา

7. ส่วนราชการ“กลุ่มการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกธรรม-บาลี”

กลุ่มการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกธรรม-บาลี กองพุทธศาสนศึกษา สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ  หน่วยงานนี้ เหมือนมีหน้าที่จัดการศึกษาธรรม-บาลี แต่จริง ๆ ก็ไม่ได้จัดการศึกษาอะไร ทำหน้าที่หลักคือคอยพิมพ์ใบประกาศนียบัตรและจัดหาพัดยศ จัดพิธีมอบประกาศนียบัตรและพัดยศให้คนที่สอบบาลีได้ในแต่ละปีการศึกษาเท่านั้น มีการช่วยจัดอบรมครูสอนบาลี-นักธรรมบ้าง และหางบประมาณมาสนับสนุนสำนักเรียนบาลีและนักธรรมบ้าง (เพียงนิดหน่อย)

8.กลุ่มคนที่ดูเฉย ๆ (กลุ่มที่เยอะที่สุดในประเทศ)

ชาวพุทธทั่วไป รวมทั้งกลุ่มบุคคลที่จบ ป.ธ.9 แล้ว แม้จะพอรู้และเข้าใจปัญหาการศึกษาบาลีในประเทศไทยบ้าง แต่ก็ทำได้เพียงมองดูเฉย ๆ ไม่รู้จะทำอะไร ไม่รู้จะทำอย่างไร ไม่รู้จะทำตรงไหน ไม่มีช่องทางให้เข้าไปทำอะไรได้ จึงต่างไปทำประโยชน์ส่วนตัวมากกว่า



ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม1 : Download? ( 308.03 kb )
ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม2 : Download? ( 12 kb )
ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม3 : Download? ( 12 kb )
ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม4 : Download? ( 12 kb )
ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม5 : Download? ( 12 kb )
ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม6 : Download? ( 12 kb )
ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม7 : Download? ( 12 kb )
ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม8 : Download? ( 12 kb )

เขียนเมื่อ 22 สิงหาคม 2559 | อ่าน 9389
เขียนโดย นายธฤญเดชา ลิภา

 
ตอบคำถาม ไม่มีคำว่า "ภาษาบาลี" ในพระไตรปิฎก
2/5/2561
อ่าน 15874
 
ความสำคัญของภาษาบาลี
17/9/2559
อ่าน 39727
 
การศึกษาบาลีในประเทศไทย มีผู้เกี่ยวข้องอยู่หลายส่วน
22/8/2559
อ่าน 9389
 
ขออาราธนาเจ้าคณะจังหวัด พระสังฆาธิการทุกระดับ เปิดสอนบาลีฆราวาส ปี 2559 เป็นต้นไป
24/10/2558
อ่าน 10296
 
ข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงงานบาลีของประเทศไทย สำหรับกองบาลีสนามหลวงและมหาเถรสมาคม
21/12/2557
อ่าน 13688
 
เรื่องที่ชาวพุทธ ควรช่วยกันพิจารณา เวลาไปเยี่ยมชมสังเวชนียสถานและโบราณสถานต่าง ๆ ในประเทศอินเดีย
13/1/2559
อ่าน 5843
 
สอนบาลีอย่างไร จึงจะไม่โกรธ
17/3/2558
อ่าน 8267
 
ทำอย่างไร เมื่อสอบตกบาลี
14/3/2558
อ่าน 10797
 
100 ทำเนียบนักบาลีไทย ผู้เปี่ยมด้วยเกียรติยศอันทรงคุณค่ายิ่ง
23/1/2558
อ่าน 5741
 
ปี 2558 ร่วมคิด ร่วมสร้าง ร่วมออกแบบการจัดการศึกษาพระพุทธศาสนาสำหรับชาวพุทธใหม่
31/12/2557
อ่าน 5620
 
 
ทั้งหมด 35 รายการ 1 / 4
 
 
แปลยกศัพท์ธรรมบทออนไลน์ 8 ภาค สำหรับบาลีศึกษา/ประโยค 1-2
 
โรงเรียนพระปริยัติธรรมวัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร ศึกษาภาษาบาลีออนไลน์
 
เรียนบาลีเบื้องต้น ปทรูปสิทธิ อภิธานวรรณนา ในรูปแบบ pdf html และ mp3 โดยพระมหาสมปอง มุทิโต
 
เรียนภาษาบาลีกับพระมหาประนอม ธมฺมาลงฺกาโร ผ่าน youtube ดูเป็นตอน ๆ 1- 30 ตอน
 
รวมความรู้ไวยากรณ์บาลี กัจจายนปกรณ์ ธรรมะทั่วไป และสาระบาลีต่าง ๆ
 
สำนักเรียนดีเด่น เปิดสอนบาลีสำหรับพระภิกษุสามเณรทุกชั้น ตั้งแต่ ประโยค 1-2 ถึง ป.ธ.9
 
วัดท่ามะโอ ลำปาง สำนักปฏิบัติธรรม และสำนักเรียนบาลีใหญ่
 
เพื่อการศึกษาพระธรรมจากคัมภีร์บาลี เรียนรู้ปทรูปสิทธิ
 
โครงการสร้างพระภิกษุสามเณรจากอินเดียกว่า 2,000 รูป เพื่อกลับไปฟื้นฟูพระพุทธศาสนาประเทศอินเดียในระยะยาว
 
วีดีโอสอนแปลบาลีธรรมบท ประโยค 1-2 โดย อ.กรภพ วัดพระเจ้าตนหลวง อธิบายง่าย เข้าใจง่าย
 
  ดูวีดีโออื่นๆ  
อาจารย์ปรีชา  แก้วทาสี
ปทรูปสิทธิ
  ดูทั้งหมด  
กัจจายนสูตร MP3
สนฺธิกณฺฑ ๑-๕
สนฺธิกณฺฑ ๒-๕
สนฺธิกณฺฑ ๓-๕
สนฺธิกณฺฑ ๔-๕
สนฺธิกณฺฑ ๕-๕
นามกณฺฑ ๑-๕
นามกณฺฑ ๒-๕
นามกณฺฑ ๓-๕
นามกณฺฑ ๔-๕
นามกณฺฑ ๕-๕
การกกณฺฑ ๑-๑
สมาสกณฺฑ ๑-๑
ตทฺธิตกณฺฑ ๑-๑
อาขฺยาตกณฺฑ ๑-๔
อาขฺยาตกณฺฑ ๒-๔
อาขฺยาตกณฺฑ ๓-๔
อาขฺยาตกณฺฑ ๔-๔
กิพฺพิธานกณฺฑ ๑-๕
กิพฺพิธานกณฺฑ ๒-๕
กิพฺพิธานกณฺฑ ๓-๕
กิพฺพิธานกณฺฑ ๔-๕
กิพฺพิธานกณฺฑ ๕-๕
อุณาธิกณฺฑ ๑-๑
สุตฺตสงฺคหคาถา
กจฺจายนสุตฺตปาโฐ (รวมทุกกัณฑ์)
 
 
 

มหาบาลีวิชชาลัย วัดโมลีโลกยาราม ถนนวังเดิม เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพฯ 10600
โทร. 0-2472-8147, 099-2468-986, 086-7962-617, 089-6601-464
E-mail : พัฒนาเว็บไซต์โดย สถาบันเทคโนโลยีพุทธบริษัท Developed by Buddhist Institute of Technology Thailand (BIT THAILAND)