สอนบาลีอย่างไร จึงจะไม่โกรธ


            ครูสอนบาลีขี้โกรธ เจ้าโทสะรุนแรง อารมณ์ร้าย วาจาเกรี้ยวกราดมักปรากฎให้เห็นบ่อย ๆ ในวงการบาลีของประเทศไทย มีเสียงเล่าลืออยู่เสมอเกี่ยวกับพระสอนบาลีที่มีความอดทนต่ำ  ไม่มีวจนักขมะ ทนต่อผู้เรียนไม่ได้ เวลาสอนหนังสือเลยด่าว่าเสียงดัง ลงไม้ลงมือกับเณรตัวน้อย ๆ บ้างใช้ไม้เรียว บ้างออกมือออกเท้า บ้างเขวี้ยงหนังสือ บ้างทุบโต๊ะ บ้างฟาดกระดานปึงปัง ฯลฯ

            แทบจะไม่รู้สึกตัว ในช่วงเวลาโกรธจัด เส้นเอ็นในร่างกายจะแข็งตึงและทำงานผิดปกติ กล้ามเนื้อตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายเกร็งบิดเกลียว กระแสเลือดเดินผิดจังหวะ คลื่นเลือดมีอุณหภูมิไม่แน่นอน ต่อมต่าง ๆ ในร่างกายปั่นป่วนทำงานไม่ปกติ หัวใจเต้นแรง ธาตุทั่วสรรพางค์กายผันแปรทำงานไม่สม่ำเสมอ การโกรธบ่อย ๆ ส่งผลให้ร่างกายโทรมเร็ว แก่ไวและหน้าตาเคร่งเครียดไม่แช่มชื่นเบิกบาน เป็นการสร้างทุกข์ให้ตัวเอง ความทุกข์นี้มาจากใจที่ยึดติดมากเกินไป ตั้งความหวังในตัวผู้เรียนมากเกินไป ห่วงหน้าตาชื่อเสียงของตัวผู้สอนมากเกินไป อยากให้สำนักเรียนอยากให้วัดของตัวเองมีชื่อเสียงมากเกินไป เจ้าอาวาสเจ้าสำนักเรียนอยากได้รับการพิจารณาเลื่อนขั้นเลื่อนสมณศักดิ์ขึ้นชั้นที่สูงขึ้นเร็ว ๆ มากเกินไป ความโกรธหรือโทสะนี้ ยิ่งปล่อยวางช้ายิ่งเครียดนาน  ความโกรธหรือโทสะนี้ ไม่ดีเลย ไม่ว่ากับใคร ๆ  ดังนั้น โบราณจึงว่า โกรธเป็นฟืนเป็นไฟ โกรธแล้วพร้อมจะเผาผลาญตัวผู้โกรธและคนอื่นรวมทั้งสิ่งของภายนอกให้ฉิบหายบรรลัยไปได้หมดสิ้น

            บ่อยครั้งที่ผู้สอนบาลีขี้โกรธพยายามอธิบายว่า ที่ทำอย่างนี้ ที่แสดงกิริยาอาการ(โกรธ/โมโห)อย่างนี้ เพื่อให้ผู้เรียนเกิดความกลัวและตั้งใจเรียนให้มาก เป็นการทำด้วยความปรารถนาดี อยากให้ลูกศิษย์ได้ดิบได้ดี ให้สามารถสอบผ่านบาลีชั้นที่เรียนอยู่ได้ แม้ว่าเจตนานี้จะเป็นจริงอยู่บ้างและได้ผลจริงบ้าง แต่ไม่ใช่ทั้งหมด ซึ่งบางทีก็เหมือนพยายามกลบเกลื่อนลักษณะความขี้โกรธของตัวเอง

            การโกรธบ่อย ๆ ออกอาการฮึดฮัดฉุนเฉียวบ่อย ๆ นัยหนึ่งเป็นการบอกว่าเมตตาที่แท้จริงยังไม่เกิดขึ้นในดวงจิต การเป็นคนมักโกรธตั้งแต่วัยเด็กตั้งแต่หนุ่มสาว จะส่งผลเสียระยะยาวต่อบุคคลนั้น ๆ  กล่าวคือหากบวชอยู่ต่อไป อายุพรรษามากขึ้นเป็นพระเถระ เป็นเจ้าคณะปกครองชั้นสูงต่อไป แม้จะเป็นคนมีความรู้ดี ก็มักจะเป็นคนที่ยึดติดในทิฐิและมานะของตัวเอง ชอบใช้อำนาจ มักจะยึดถือตัวเองว่าถูกต้องเสมอและถูกต้องทุกเรื่อง คนอื่นต้องฟังตนเองและทำตามที่ตัวเองต้องการ ไม่ยอมรับฟังเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ไม่กล้าเปิดใจรับฟังความคิดเห็นจากคนอื่น ไม่มีแนวความคิดในการระดมพลังกลุ่มในการทำงานเพื่อพระศาสนา ซึ่งลักษณะนิสัยดังกล่าวนี้จะพัฒนาต่อไปกลายเป็นเผด็จการ นั่นคือจะกลายเป็นเจ้าอาวาสเผด็จการ เป็นเจ้าคณะเผด็จการ เป็นพระผู้ใหญ่เผด็จการ เป็นพระสมเด็จเผด็จการ มีความคับแคบทางความคิด ยิ่งหากมีความรู้วิชาการทางสังคมที่จำกัด ประกอบกับการไม่รู้เท่าทันความเป็นไปของโลกด้วยแล้ว จะยิ่งคับแคบและปิดกั้นตัวเองมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าเสียดาย หากบุคลากรสงฆ์ที่บวชตั้งแต่อายุน้อย ๆ กลับต้องพัฒนาตนเองไปติดอยู่ในกับดักอำนาจนิยมโทสจริตเช่นนี้

            การสอนบาลีบนพื้นฐานโทสะหรือความโกรธ นอกจากไม่เป็นผลดีกับตัวผู้สอนแล้ว ยังเป็นการเพาะนิสัยขี้โกรธและสร้างต้นแบบการสอนบาลีโดยมีโทสะเป็นพื้นฐานให้ผู้เรียนไปในตัวด้วย เมื่อผู้เรียนคนนั้นโตขึ้น ไปรับผิดชอบทำหน้าที่สอนหนังสือ เขาก็มักจะทำตามต้นแบบที่เคยสัมผัสมาคือสอนและทำตามแบบอาจารย์ของตนเอง เพราะตนเองประสบความสำเร็จมาด้วยวิธีการแบบนี้ จึงเชื่อมั่นว่า วิธีแบบนี้ดี ก็เลยแสดงอาการขี้โมโหขี้โกรธออกมา สืบทอดการสอนบาลีด้วยวิธีโทสะต่อไปอีก เวลาสอนหนังสือจึงต้องด่าว่ารุนแรง ขู่บังคับ  ใช้วิธีทำโทษแบบตามใจฉัน เพื่อให้ผู้เรียนฟังและปฏิบัติตามที่ตนเองต้องการ และหากมีใครลองดีไม่เชื่อฟังหรือเห็นต่างจากวิธีของผู้สอน  ผู้สอนก็จะยิ่งเสียงดังยิ่งขึ้น ใช้อำนาจมากยิ่งขึ้น หรือบางทีหากตนเองเป็นเจ้าอาวาสวัดด้วยก็อาจไล่คนที่เห็นต่างจากตนเองนั้นให้ออกไปจากวัดเลยก็มี

            ต้องยอมรับความจริงว่า เทคนิควิธีการถ่ายทอดความรู้ กระบวนการเรียนการสอนบาลีของวงการสงฆ์นั้นมีลักษณะที่อิงอยู่บนฐานโทสะ อำนาจนิยม การบังคับ และความกลัวจนเป็นปกติ จนสรุปกันว่า นี่คือลักษณะและวิธีการที่ถูกต้อง ผู้สอนบาลีจำนวนมากจึงไม่คิดหาเทคนิคและวิธีการอื่น ๆ มาสอน ผลก็คือจำนวนผู้เรียนบาลีนับวันจะลดน้อยลงไปเรื่อย ๆ ที่เรียนอยู่ก็ทนเรียนด้วยความรู้สึกน่าเบื่อหน่าย เรียนไปแบบไร้ความหมายไม่มีชีวิต จริงอยู่ หลักสูตรและระบบการบริหารงานบาลีที่สูงขึ้นไปกว่านั้นมีส่วนสำคัญสำหรับปริมาณคนเรียน แต่เทคนิคและวิธีการสอนของครูสอนบาลีก็สำคัญไม่น้อยกว่ากันในการไล่ผู้เรียนให้หนีออกไปจากระบบการเรียนหรือดึงดูดให้คนมาสนใจเรียนมากยิ่งขึ้น

            เมื่อได้เห็นโดยชัดแจ้งแล้วว่า การสอนบาลีโดยใช้โทสะเป็นฐาน ใช้กำลังบังคับ และใช้ความกลัวของผู้เรียนเป็นจุดตั้งนั้นไม่ดีเลย ไม่เป็นผลดีกับผู้เรียนและบรรยากาศการปกครองคณะสงฆ์โดยรวมในระยะยาว แล้วเราจะสอนบาลีโดยไม่โกรธได้อย่างไร มีวิธีที่พอจะพิจารณากันได้ดังนี้

              ๑. ปลูกพรหมวิหารธรรมให้ถูกต้อง เมตตาให้ถูกต้อง กรุณาให้ถูกต้อง มุทิตาให้ถูกต้องและอุเบกขาให้ถูกต้อง ทั้งตัวผู้สอนทั้งตัวผู้เรียน

              ๒. เข้าใจความแตกต่างหลากหลายของผู้เรียน ทุกคนมีความแตกต่างหลากหลายกัน ทั้งพื้นฐานเดิม สภาพครอบครัว ความคิด ความสำนึก ปมเด่นปมด้อย และความศรัทธา เมื่อเข้าใจความแตกต่างของผู้เรียนแล้วเราต้องหาทางเข้าถึงความแตกต่างของแต่ละคนให้ได้ มองทะลุให้เห็นจุดอ่อนจุดแข็งของผู้เรียนแต่ละคนให้ได้ ในกลุ่มผู้เรียนไม่เกิน ๕๐ คนต่อห้องนั้น ครูผู้สอนสามารถที่จะรู้รายละเอียดผู้เรียนได้โดยง่าย ทั้งทัศนคติ ชีวิต วิธีคิด วิธีเรียน พื้นฐานครอบครัว เป้าหมายและสิ่งที่เขาต้องการในระยะยาว ด้วยวิธีการทดสอบ ด้วยการพูดคุยแบบกันเองและวิธีอื่น ๆ  เมื่อเรารู้ข้อด้อยข้อเด่นของเขา เราก็จะสามารถแก้ปัญหาและให้อุบายแก้ไขเขาได้ตรงจุด จากคนธรรมดา ๆ ก็จะสามารถเรียนรู้ได้กลายเป็นคนเก่ง จากคนเก่งแบบธรรมดา ๆ ก็จะกลายเป็นอัจฉริยะได้

               ๓. มองผู้เรียนว่าคือบุคคลพิเศษที่สำคัญที่จะเจริญเติบโตไปในภายหน้า หรือมองว่าผู้เรียนอาจเป็นโพธิสัตว์องค์หนึ่งที่อยู่ระหว่างพัฒนาตัวเองและเกิดมาเพื่อสร้างสมบารมีเพื่อจะได้ตรัสรู้ในกาลต่อไป เมื่อเรามองผู้เรียนเช่นนี้ เราจะรู้สึกเคารพและเชื่อมั่นในตัวเขา เราจะไม่อยากโกรธหรือแสดงโทสะต่อโพธิสัตว์เลย

              ๔. นำมหาสติปัฏฐานภาวนามาเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการการเรียนการสอนบาลี
มหาสติปัฏฐานภาวนา เครื่องมือเข้าถึงพุทธธรรมสายตรงที่สำคัญสำหรับชาวพุทธทุกเพศทุกวัย ที่ผู้สอนและผู้เรียนบาลีมักมองข้ามกัน เราจึงหาต้นแบบวัดหรือสำนักเรียนบาลีที่จะนำเทคนิควิธีนี้มาใช้ในกระบวนการเรียนการสอนได้ยาก  เมื่อพูดถึงการปฏิบัติเรามักจะได้ยินว่า ต้องตัดปริยัติออก อย่าเอามาเป็นข้อกังวลในการปฏิบัติ แสดงว่าเราแยกไม่ออกว่า การปฏิบัติมีหลายระดับและหลายวัตถุประสงค์ เหมือนความสะอาดที่มีหลายระดับ ความสะอาดแบบธรรมดาทั่วไป ความสะอาดในโรงพยาบาล ความสะอาดของอาหาร ความสะอาดของเสื้อผ้า ความสะอาดในระดับห้องแลปทางวิทยาศาสตร์

            การมุ่งเรียนหนังสืออย่างเดียวโดยไม่นำมหาสติปัฏฐานภาวนามาใช้เป็นกระบวนการหนึ่งนั้นนับว่าน่าเสียดาย อันที่จริง สำนักเรียนสามารถจัดหลักสูตรอบรมเข้มมหาสติปัฏฐานภาวนาให้ผู้เรียนได้อย่างน้อย ๑-๒ สัปดาห์ก่อนเริ่มเรียนในแต่ละปีการศึกษา และทุก ๆ วันพระตลอดปีการศึกษา ก็เน้นมหาสติปัฏฐานภาวนานี้ได้ การเรียนการสอนบาลีจะก้าวหน้า ปัญหาทางความประพฤติและด้านการปกครองต่าง ๆ จะลดน้อยลง

            นักปฏิบัติผู้เชี่ยวชาญย่อมไม่ปฏิเสธความรู้ในปริยัติ แต่นักปริยัติผู้ไม่เชี่ยวชาญในการปฏิบัติมักบอกว่า การปฏิบัตินั้นให้รอก่อน เอาไว้ก่อน ไม่ต้องปฏิบัติในขณะเรียน ให้เรียนจบก่อนค่อยปฏิบัติ ซึ่งเป็นวิธีการที่ไม่ถูกต้องและไม่สมบูรณ์นักในกระบวนการเรียนการสอนพระปริยัติธรรม

            แท้จริง เราไม่สามารถแยกปริยัติและปฏิบัติออกจากกันได้โดยเด็ดขาด เหมือนเราไม่สามารถแยกรสออกจากอาหารได้  เราไม่สามารถแยกแสงสว่างออกจากกลางวันได้ ฉะนั้น

            การนำมหาสติปัฏฐานภาวนามาอยู่ในกระบวนการปริยัติจึงเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญมาก ให้สังเกตและสอบถามกับผู้เรียนบาลีว่า ก่อนเรียน ขณะเรียน หลังเรียนในแต่ละวันเป็นอย่างไร ถ้าเรียนแล้วมีแต่ความเบื่อหน่าย เครียด ทรมาน  ต้องให้อาจารย์คอยจี้คอยกระตุ้น แสดงว่ากระบวนการมหาสติปัฏฐานภาวนาในตัวผู้เรียนยังอ่อนอยู่ต้องพยายามพยาบาลให้เข้มแข็งมั่นคงยิ่งขึ้นต่อไป ตรงกันข้าม ถ้าเขาเรียนแล้วเขามีความสุข มีศรัทธา มุ่งมั่น สนใจค้นคว้าเรียนรู้โดยไม่ต้องมีใครมากระตุ้นมาปลุกเร้า นั่นแสดงว่า ผู้เรียนคนนั้นเข้าสู่เส้นทางแห่งกระบวนการมหาสติปัฏฐานภาวนาแล้ว เขาจะได้รับผลจากการภาวนาคือความสงบทางใจ ได้ค้นคว้าเรียนรู้โดยไม่ยึดติด ไม่ขี้เหนียวและไม่คับแคบทางความคิด และเมื่อเกิดผลดังกล่าวเกิดขึ้นแล้ว ความเฉื่อยชาอ่อนแรงสิ้นหวัง ความสนใจในการเล่น ความเพลิดเพลินติดใจในสื่อทีวี หนัง เพลง ละคร ฟุตบอล อินเตอร์เนตหรืออะไรอื่น ๆ จะค่อย ๆ หายไปและไม่มีผลอะไรกับเขาในที่สุด นี่คือคุณลักษณะของผู้เรียนบาลีที่ผู้สอนบาลีควรพิจารณา เพราะเมื่อเขามีลักษณะดังกล่าวแล้ว เราแทบไม่ต้องเหนื่อยกับเขาเลย เขาสามารถเดินไปข้างหน้าได้เอง โดยมีครูอาจารย์เป็นเพียงที่ปรึกษาให้เท่านั้น

               แล้วจะนำมหาสติปัฏฐานภาวนามาเป็นกระบวนการหนึ่งในการจัดการเรียนการสอนบาลีได้อย่างไร มันต้องมีการจัดการหลายอย่าง จุดแรกเริ่มสุดคือ ทำวัดให้มีบรรยากาศเอื้อเกื้อกูลต่อกระบวนการนี้ นั่นคือ

           ๑. จัดบริเวณวัดให้สัปปายะ ปรับปรุงภูมิทัศน์สภาพแวดล้อมของวัดให้สะอาด ร่มรื่น โปร่ง โล่ง ชวนสงบให้สมกับความเป็นวัด จัดการกลิ่น จัดการสัตว์เลี้ยงในวัดให้ลงตัว นำรูปปั้นและสิ่งที่ขัดกับหลักการทางพุทธศาสนาออกไป ไม่มุ่งทำวัดให้เป็นเพียงที่เช่าจอดรถแบบที่แล้ว ๆ มา

           ๒. มีพระอาจารย์ผู้มีความสามารถทางมหาสติปัฏฐานภาวนาอยู่ประจำในวัด ให้ท่านเปิดประตูโบสถ์วิหาร คอยแนะนำอุบายวิธี คอยนำพาผู้สนใจ (ทั้งพระเณรและฆราวาส) ปฏิบัติมหาสติปัฏฐานภาวนาทุกวัน

           ๓. ผู้สอนบาลี เสียสละเวลาและลงทุนไปฝึกปฏิบัติมหาสติปัฏฐานภาวนากับอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญผู้มีประสบการณ์สูงสักระยะ อย่างน้อย ๆ ฝึกปฏิบัติต่อเนื่องให้ได้ 3 เดือนก่อน เพื่อให้ได้รับผลคือความสงบอันจะพึงได้จากการภาวนานี้

            เมื่อมหาสติปัฏฐานภาวนากลายเป็นสิ่งปกติในวัด พระภิกษุสามเณรทั้งวัดได้เห็น ได้สัมผัส ได้ฝึก ได้ปฏิบัติอยู่เสมอ ๆ จะช่วยขัดเกลาปรับปรุงตนเองไปเรื่อย ๆ มันจะกลายเป็นพลังสะสมทั้งส่วนตัวและส่วนรวม เมื่อจะเรียนอะไร หรือทำกิจอะไรก็จะประสบผลสำเร็จได้โดยง่าย ผู้สอนบาลีจะไม่เผลอตัวโกรธ จะไม่ยอมให้โทสะเข้าครอบงำได้ง่าย ๆ การพูดจาด่าว่า เสียงเอะอะโวยวาย เสียงตวาดตะคอก กิริยาทุบโต๊ะฟาดกระดาน การขู่บังคับผู้เรียน ฯลฯ ก็จะหายไป

            แต่ถ้าไม่นำมหาสติปัฏฐานภาวนามาเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอนบาลี เชื่อแน่ว่า ครูสอนบาลีขี้โกรธก็จะยังคงมีอยู่ต่อไป สมภารโมโหร้าย เจ้าคณะ พระสมเด็จเผด็จการพระอำนาจนิยมก็จะคงอยู่ต่อไป และจะสืบทอดลักษณะนิสัยแบบนี้กันไปเรื่อย ๆ โดยแทบไม่รู้สึกตัว หรือหากพอจะรู้ตัวกันบ้างก็ไม่สามารถคิดอ่านแก้ไขอะไรได้แล้วเพราะสะสมนิสัยความเคยชินแบบนี้มามากและนานแล้ว

             จึงอยู่ที่พระรุ่นใหม่ ๆ ที่จะพลิกบทบาทและสถานะของพระศาสนาให้น่าเลื่อมใสศรัทธาและมั่นคงในจิตใจชาวพุทธ สงฆ์ไทยยุคใหม่จะยังยินดีสืบทอดลักษณะนิสัยโทสะเผด็จการอำนาจนิยมเช่นนี้ต่อไปอีกหรือ?



ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม1 : Download? ( 191.26 kb )
ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม2 : Download? ( 12 kb )
ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม3 : Download? ( 12 kb )
ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม4 : Download? ( 12 kb )
ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม5 : Download? ( 12 kb )
ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม6 : Download? ( 12 kb )
ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม7 : Download? ( 12 kb )
ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม8 : Download? ( 12 kb )

เขียนเมื่อ 17 มีนาคม 2558 | อ่าน 8272
เขียนโดย นายธฤญเดชา ลิภา

 
มหาเถรสมาคม ควรสร้างมหาอุปาสิกาวิทยาลัย 18 แห่ง ในปี 2558
24/12/2557
อ่าน 5115
 
ความงดงามในเรือนจำ และ วันมหาสติปัฏฐานภาวนา
9/11/2557
อ่าน 5648
 
แนวทางสอนชาวบ้านแปลบาลีธรรมบทให้เกิดประโยชน์สูงสุด
13/10/2557
อ่าน 8899
 
ชีวิตสามเณรน้อยในประเทศไทย ลำบากและมีความเสี่ยงสูง
13/10/2557
อ่าน 4811
 
ห้องเรียนบาลีหญิงนานาชาติแห่งแรกของประเทศไทย ณ ทัณฑสถานหญิงกลางลาดยาว
24/7/2557
อ่าน 5661
 
วิธีการอ่านหนังสือหลักสูตรภาษาบาลีเบื้องต้น
5/7/2557
อ่าน 10647
 
การสอบบาลี เพื่อความมั่นคงยั่งยืนแห่งพระสัทธรรม
4/4/2557
อ่าน 6059
 
การเตรียมความพร้อมเพื่อเรียนภาษาบาลีเบื้องต้นให้ประสบความสำเร็จ
29/3/2557
อ่าน 7129
 
การเตรียมความพร้อมเพื่อเรียนบาลีไวยากรณ์ชั้นสูงให้ประสบความสำเร็จ
28/2/2557
อ่าน 8886
 
การเรียนบาลีเรียนอย่างมีความสุขและความยั่งยืนของพระสัทธรรม
5/2/2557
อ่าน 6158
 
 
ทั้งหมด 35 รายการ 2 / 4
 
 
แปลยกศัพท์ธรรมบทออนไลน์ 8 ภาค สำหรับบาลีศึกษา/ประโยค 1-2
 
โรงเรียนพระปริยัติธรรมวัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร ศึกษาภาษาบาลีออนไลน์
 
เรียนบาลีเบื้องต้น ปทรูปสิทธิ อภิธานวรรณนา ในรูปแบบ pdf html และ mp3 โดยพระมหาสมปอง มุทิโต
 
เรียนภาษาบาลีกับพระมหาประนอม ธมฺมาลงฺกาโร ผ่าน youtube ดูเป็นตอน ๆ 1- 30 ตอน
 
รวมความรู้ไวยากรณ์บาลี กัจจายนปกรณ์ ธรรมะทั่วไป และสาระบาลีต่าง ๆ
 
สำนักเรียนดีเด่น เปิดสอนบาลีสำหรับพระภิกษุสามเณรทุกชั้น ตั้งแต่ ประโยค 1-2 ถึง ป.ธ.9
 
วัดท่ามะโอ ลำปาง สำนักปฏิบัติธรรม และสำนักเรียนบาลีใหญ่
 
เพื่อการศึกษาพระธรรมจากคัมภีร์บาลี เรียนรู้ปทรูปสิทธิ
 
โครงการสร้างพระภิกษุสามเณรจากอินเดียกว่า 2,000 รูป เพื่อกลับไปฟื้นฟูพระพุทธศาสนาประเทศอินเดียในระยะยาว
 
วีดีโอสอนแปลบาลีธรรมบท ประโยค 1-2 โดย อ.กรภพ วัดพระเจ้าตนหลวง อธิบายง่าย เข้าใจง่าย
 
  ดูวีดีโออื่นๆ  
อาจารย์ปรีชา  แก้วทาสี
ปทรูปสิทธิ
  ดูทั้งหมด  
กัจจายนสูตร MP3
สนฺธิกณฺฑ ๑-๕
สนฺธิกณฺฑ ๒-๕
สนฺธิกณฺฑ ๓-๕
สนฺธิกณฺฑ ๔-๕
สนฺธิกณฺฑ ๕-๕
นามกณฺฑ ๑-๕
นามกณฺฑ ๒-๕
นามกณฺฑ ๓-๕
นามกณฺฑ ๔-๕
นามกณฺฑ ๕-๕
การกกณฺฑ ๑-๑
สมาสกณฺฑ ๑-๑
ตทฺธิตกณฺฑ ๑-๑
อาขฺยาตกณฺฑ ๑-๔
อาขฺยาตกณฺฑ ๒-๔
อาขฺยาตกณฺฑ ๓-๔
อาขฺยาตกณฺฑ ๔-๔
กิพฺพิธานกณฺฑ ๑-๕
กิพฺพิธานกณฺฑ ๒-๕
กิพฺพิธานกณฺฑ ๓-๕
กิพฺพิธานกณฺฑ ๔-๕
กิพฺพิธานกณฺฑ ๕-๕
อุณาธิกณฺฑ ๑-๑
สุตฺตสงฺคหคาถา
กจฺจายนสุตฺตปาโฐ (รวมทุกกัณฑ์)
 
 
 

มหาบาลีวิชชาลัย วัดโมลีโลกยาราม ถนนวังเดิม เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพฯ 10600
โทร. 0-2472-8147, 099-2468-986, 086-7962-617, 089-6601-464
E-mail : พัฒนาเว็บไซต์โดย สถาบันเทคโนโลยีพุทธบริษัท Developed by Buddhist Institute of Technology Thailand (BIT THAILAND)