ทำอย่างไร เมื่อสอบตกบาลี


ระบบการวัดผลการเรียนที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย คือระบบการวัดผลสอบบาลีสนามหลวงของคณะสงฆ์ไทย เป็นระบบที่ไม่ได้สนใจกระบวนการเรียนการสอนของผู้เรียนในระหว่างปีการศึกษาเลย ไม่ได้สนใจว่าผู้เรียน ได้เรียน ได้ศึกษาค้นคว้าอย่างไรหรือไม่ แต่สนใจเพียงการสอบวัดผลครั้งเดียวเท่านั้นในปีการศึกษาหนึ่ง ๆ

ผู้สมัครสอบ ถ้าสอบได้คะแนนทุกวิชาตามเกณฑ์  ผู้จัดสอบก็จะประทับตราว่าสอบผ่าน ถ้าไม่ได้ตามเกณฑ์ก็ประทับตราว่าสอบตก ไม่มีโอกาสให้แก้ตัวในปีนั้น แม้ว่าจะสอบบางวิชาได้คะแนนเต็ม แต่ตกบางวิชา ก็ถือว่าตกทั้งหมด ต้องเริ่มต้นสอบใหม่หมดทุกวิชาในปีต่อไป ซึ่งการสอบบาลีสนามหลวงนั้นในหนึ่งปีจัดสอบวัดผลเพียงครั้งเดียวเท่านั้น

แม้ในปัจจุบัน การสอบบาลีสนามหลวงในชั้นต้น ๆ คือประโยค 1-2 ถึง ป.ธ.5 จะเปิดโอกาสให้ผู้สอบได้สอบแก้ตัวได้ คือถ้าสอบผ่านบางวิชาก็เก็บผลสอบไว้ให้ 2 เดือน แล้วมาสอบแก้ตัวเฉพาะวิชาที่สอบไม่ผ่าน วิธีนี้ทำให้ผู้เข้าสอบมีโอกาสสอบผ่านมากกว่าพระภิกษุสามเณรยุคเก่าก่อน แต่ก็ไม่ได้ช่วยอะไรมากนัก เพราะสถิติผู้สอบบาลีผ่านในแต่ละปีนั้น ไม่ถึง 30% ของผู้เข้าสอบทั้งหมดเลย

การสอบได้สอบตก เป็นเรื่องจริงแท้ที่สุดแสนธรรมดาก็จริง แต่สำหรับผู้สอบตกแล้ว นี่คือสิ่งที่บั่นทอนกำลังใจและความหวังทั้งมวลแทบพังทลายสิ้น ยิ่งสำหรับผู้ที่ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนมาตลอดทั้งปีกลับสอบตกแล้ว ยิ่งน่าเสียดาย จริงอยู่การสอบเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่ประเด็นสำคัญอะไรสำหรับการศึกษาพุทธธรรม แต่ชีวิตจริงของพระหนุ่มเณรน้อยในประเทศไทยนั้น ส่วนมากไม่ได้ต้องการบวชอยู่ตลอดชีพ ส่วนมากบวชเข้ามาด้วยความไม่รู้เรื่องอะไรเลย เห็นเขาบวชก็บวชตาม เห็นเขาเรียนอะไรก็เรียนตาม ไม่มีการเตรียมการ ไม่ได้ปูพื้นความรู้อะไรก่อนบวชนัก บวชหน้าไฟในงานศพบ้าง บวชภาคฤดูร้อนแล้วบวชอยู่ต่อบ้าง ไม่ได้เข้าใจจุดมุ่งหมายที่แท้จริงของการบวชตั้งแต่เริ่มแรก  ส่วนมากล้วนมีความหวังที่จะลาสิกขาออกไปใช้ชีวิตฆราวาสกันทั้งนั้นไม่วันใดก็วันหนึ่ง

สำหรับผู้ที่เห็นทุกขภัยในชีวิตฆราวาส เบื่อหน่ายในฆราวาสวิสัยมาบวชนั้น จะมองเห็นการสอบผ่านไม่ผ่านเป็นเรื่องเล็กน้อย ไม่ได้บั่นทอนกำลังใจอะไร ไม่ตื่นเต้นอะไรด้วยซ้ำ ซึ่งจำนวนพระสงฆ์กลุ่มนี้มีปริมาณเพียงน้อยนิด

สำหรับท่านที่หวังจะลาสิกขาไปใช้ชีวิตฆราวาสแล้ว การสอบตก มันเหมือนอนาคตส่อแววว่าจะตีบตันและมืดมน แม้สอบได้ประโยค ป.ธ.5 ลาสิกขาออกไป ก็มีวุฒิการศึกษาติดตัวเทียบได้แค่ ม.3 จะเอาไปสมัครทำงานอะไรได้ จบ ป.ธ.6 ก็มีวุฒิแค่ ม.6 พอจะไปสมัครงานในโรงงานมาตรฐานได้บ้าง การสอบตก 1 ปี รู้สึกทำให้เสียเวลาไปเนิ่นนาน วัยก็เพิ่มมากขึ้น อายุก็มากขึ้น เมื่อลาสิกขาออกไป หากระหว่างบวชอยู่ไม่เคยได้รับความสุขจากผลการเจริญธรรมภาวนาแล้ว จะรู้สึกเศร้าเสียใจ หดหู่ และไม่กล้าสู้กับปัญหาความทุกข์ยากของชีวิตเท่าใดนัก

ทำไมคนจำนวนมาก จึงคิดว่า อนาคตจะมืดมนตีบตัน เมื่อตัวเองมีวุฒิการศึกษาต่ำ ๆ ความคิดเช่นนี้เกิดขึ้นและครอบงำคนจำนวนมากในสังคม เพราะการยึดติดที่ว่า ตนเองต้องได้ทำงานดี ๆ งานเบา ๆ มีรายได้มาก ๆ งานที่ไม่ต้องใช้แรงงานแบบกรรมกร งานที่ไม่ต้องเสี่ยงภัยห้อยโหนตามตึกตามอาคาร งานที่ไม่ต้องไปคลุกลุยกับสิ่งสกปรก น้ำครำ ในขยะ อยากทำงานราชการมีหน้าตา มียศศักดิ์ หรือเป็นพนักงานบริษัทที่มีเงินเดือนดี ๆ  แต่งตัวโก้ ๆ ฯลฯ การได้ทำงานแบบนี้เชื่อว่า จะช่วยให้ตัวเองมั่นใจ เมื่อกลับบ้านเกิดญาติพี่น้องได้ทราบข่าวก็จะดีใจด้วย ได้ชื่นชมยินดีว่า “ท่านมหา.. ได้เป็นข้าราชการ เป็นเจ้าคนนายคน มีงานทำดี มีเงินดี เป็น ผอ. โน่นนี่นั่น...” 

อันที่จริง หากปรับความคิดใหม่ว่า เราเกิดมาเป็นคน ไม่ว่าจะเรียนจบสูงจบต่ำ ไม่ใช่เรื่องสำคัญ เมื่อจะทำงานแล้ว ไม่ต้องไปเกรงกลัวความยากลำบาก ไม่อาย งานอะไรก็ได้ที่สุจริตไม่ผิดศีลไม่ผิดธรรมไม่ผิดกฎหมาย  เราสามารถลุยทำได้ โดยไม่อายใคร ไม่สนใจคำพูดของใคร ๆ ยิ่งเรียนจบชั้นสูง ๆ เป็นบัณฑิต  เราก็ยิ่งต้องพร้อมที่จะใช้แรงงานให้มากกว่าคนทั่วไป ต้องใช้ฝีมือให้มาก ต้องทำงานให้หนักมาก ออกแรงกายให้เหงื่อออกมาให้มาก ให้กำลังมือออกแรงให้มาก ให้กำลังแข้งขาออกแรงทำงานให้เต็มที่ งานอะไรก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นงานเสี่ยงภัย งานสกปรกโสโครกที่คนเขาไม่ชอบทำกัน ไม่ว่าจะเป็นงานที่ต้องทนอยู่กับความร้อนความหนาว เมื่อมันเป็นงานที่สุจริตแล้ว เราสามารถทำได้ทั้งนั้น เมื่อปรับความคิดใหม่ได้แบบนี้  อนาคตที่กลัวว่าจะตีบตันก็แทบไม่มี เพราะตัวเราเองพร้อมจะลุยทุกสถานการณ์ เราพร้อมจะทำได้ทุกงานโดยเฉพาะงานประเภทใช้แรงงาน เมื่อเราเชื่อมั่นว่า งานทุกงานที่ไม่ผิดศีลไม่ผิดธรรมไม่ผิดกฎหมายเป็นงานที่ดี ประเสริฐ มีศักดิ์ศรี  และเป็นงานที่มีเกียรติไม่ยิ่งไปกว่างานอื่นแล้ว เราก็จะไม่อายใคร ไม่กระดายอาย ไม่รู้สึกว่าขายหน้าที่เป็นมหาเป็นนักบวชเก่าแล้วมาทำงานแบบนี้ นี่คือความมั่นใจ นี่คือสิ่งที่จะเป็นพลังให้เราพร้อมเผชิญกับทุกความยากลำบากของชีวิตได้สุดทรนง

ยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่เข้าใจและยึดถือผิดว่า ๆ งานประภทใช้แรงงานนี้เป็นงานชั้นต่ำ จึงไม่ต้องจ่ายค่าจ้างสูง เพราะถือว่า คนทำงานแบบนี้ เรียนไม่จบสูงอะไร  และเชื่อผิด ๆ ว่า บวชเรียนมาตั้งหลายปี กลับมาใช้แรงงานแบบนี้ น่าอายน่าขายหน้า ซึ่งเป็นการยึดติดที่ผิด ๆ คับแคบและไม่สร้างสรรค์  จึงพากันสร้างค่านิยมให้งานอาชีพใช้แรงงานนี้ดูต่ำต้อยไม่ทัดเทียมกับอาชีพอื่น ๆ ทั้ง ๆ ที่ทำงานหนัก เสี่ยงภัยเสี่ยงชีวิตมากกว่า  เมื่อเทียบงานประเภทใช้แรงงานกับงานประเภทแต่งตัวเท่ ผูกสูท นั่งทำงานในห้องแอร์โดยเฉพาะกับกลุ่มที่ไปทำหน้าที่ออกระเบียบกติกาสำหรับคนทั้งประเทศแล้ว บางทีงานประเภทนั้น หากไม่สุจริตเที่ยงธรรมอาจเป็นงานที่ต่ำกว่างานประเภทใช้แรงงานนี้ก็ได้

ดังนั้น อย่ารังเกียจการใช้แรงงาน อย่าหวาดกลัวงานเสี่ยงภัย อย่าหลบหลีกงานสกปรกมอมแมม เมื่อจะลาสิกขา เรานักบวชสามารถทำได้ทั้งนั้น ไม่ต้องไปหวั่นไหวกับเสียงซุบซิบนินทาของใคร ผลของงานคือความสำเร็จของงานนั้น ๆ ส่วนเงินค่าตอบแทนเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต่อเนื่องกันไม่ใช่เนื้องาน ไม่ใช่สิ่งที่จะเอามาวัดและประเมินค่าของคน

พระเณรจำนวนมาก พื้นฐานครอบครัวมาจากลูกชาวนาเกษตรกร บ้างมาจากครอบครัวหย่าร้างแตกแยก อยากจะหนีความยากจน อยากยกระดับฐานะครอบครัว อยากลืมตาอ้าปากได้ อยากมีที่ยืนในสังคมที่เขานิยมกันว่าสง่างาม อยากเป็นชนชั้นกลางที่มีบ้าน ที่ดิน มีรถขับขี่ มีฐานะมั่นคง จึงคาดหวังว่า จะใช้การสอบบาลีเป็นบันไดไต่ไปสู่ความสำเร็จดังกล่าวนั้น ซึ่งถ้าเข้าใจความจริงอีกด้านว่า การเรียนบาลีนั้น ไม่ใช่การเรียนวิชาชีพ แต่เป็นการเรียนเพื่อศึกษาให้เข้าใจพุทธธรรมและเพื่อให้ได้หลักปฏิบัติมาใช้บริหารดูแลชีวิตตนเอง จะไปมุ่งหวังเอาบาลีมาประกอบอาชีพให้มีฐานะร่ำรวยเงินทองดังที่หวังนั้น เป็นสิ่งที่ไม่ตรงประเด็นและไม่สมเหตุสมผลนัก ในแต่ละปีคนที่เรียนจบบาลีมา 1,000 รูป จะมีคนที่ทำงานในสายตรงเกี่ยวกับบาลีไม่ถึง 10 รูป ถ้ามุ่งหวังจะทำงานทำอาชีพให้ร่ำรวยจริงจังแล้ว ไม่ควรบวชเรียนตั้งแต่แรกแบบนี้ คือไม่ต้องบวช ควรมุ่งไปเรียนวิชาชีพ เรียนวิชาค้าขาย วิชาผลิต วิชาช่าง วิชาบริหาร แพทย์ เภสัช ฯลฯ ในโรงเรียน หรือมหาวิทยาลัยที่สอนอาชีพแบบฆราวาสทั่วไปจะตรงมากกว่า

การบวชเรียนแล้วมุ่งหวังไปใช้ชีวิตทางฆราวาสนั้น อาจไม่ใช่ความผิดของพระเณรรูปนั้น ๆ โดยตรง เพราะสภาพแวดล้อมและระบบสังคมได้สร้างและสะสมสภาพการณ์แบบนี้กันมานานแล้ว หลายคนเมื่อเป็นเด็กอยู่ในเพศฆราวาสขาดโอกาสทางการศึกษา สภาพครอบครัวไม่เอื้ออำนวย ขาดผู้แนะแนวชีวิตทางการศึกษา องค์กรภาครัฐจัดการศึกษาตอบสนองได้ไม่ดีพอ ปล่อยให้มีคนตกหล่นในระบบการศึกษาจำนวนมาก และตัวเด็กเองที่ไม่สนใจหาข้อมูลไม่ค้นคว้าเรียนรู้ ปล่อยชีวิตล่องลอยไปตามที่ตัวเองอยากและติดใจเพลินใจกับการละเล่น การเสพของมึนเมา การสนุกสนาน ไม่สนใจเรียน แต่เมื่อมาบวชแล้ว มาอยู่ในฐานะที่เคารพศรัทธาของผู้คน เลยจำต้องเรียนต้องศึกษาเพื่อให้มีความรู้ทางธรรมเพื่อจะสามารถไปแนะนำสั่งสอน บอกสอนธรรมให้คนอื่นได้ ซึ่งเป็นความมุ่งหวังของสถาบันทางศาสนาที่บางทีก็ไม่ตรงกับความต้องการของตัวผู้บวชนัก

การเรียนบาลีแล้วสอบตก จะไม่ทำให้โศกเศร้าเสียใจอะไร ถ้าผู้มาบวชเป็นผู้ที่เบื่อหน่ายชีวิตฆราวาส ต้องการบวชเพื่อศึกษาและปฏิบัติให้ตนเองพ้นอาสวะ และการเรียนบาลีแล้วสอบตก อาจทำให้โศกเศร้าเสียใจบ้าง(มากน้อยแล้วแต่บุคคล) สำหรับกลุ่มผู้บวชที่มุ่งหวังไปใช้ชีวิตฆราวาสหรือผู้ที่มุ่งหวังสักการะ หวังยศชั้นสมณศักดิ์และต้องการตำแหน่งบริหารทางคณะสงฆ์ แต่เมื่อมันเป็นความจริงที่หนีไม่พ้น ไม่มีอะไรดีกว่าการมองทุกอย่างตามความเป็นจริง สอบตกก็คือสอบตก ชีวิตมนุษย์นี้สั้นนัก ไม่ได้ยาวนานอะไร เทียบได้กับหยดน้ำค้างบนยอดหญ้า ไม่นานก็หล่นแห้งหายไป การสอบตกบาลีไม่ได้หมายถึงเราทำผิดพลาดจนถึงขนาดต้องตกไปอยู่ในทุคคติภูมิ เช่น เดรัจฉาน เปรต หรือสัตว์นรกเลย ดังนั้น เราต้องให้สติตัวเอง ไม่พึงไปโกรธเคืองเคียดแค้นตัวเองหรือใคร ๆ   เอาพุทธธรรมที่อุตส่าห์เรียนมา เอามาใช้ให้เป็นประโยชน์ให้เต็มที่  ฝึกเจริญสติให้รู้ตามความเป็นจริงให้ได้ว่า “นี่คือธรรมชาติธรรมดาของวัฏฏะ มีอะไรเล่าที่จะได้ดังใจไปเสียทุกอย่าง”  การฝึกหัดสติภาวนาแบบนี้ จะทำให้เราปล่อยวางได้ง่ายปลงใจได้เร็ว แล้วปลุกใจตัวเอง ทบทวนดูข้อด้อยหรือข้อผิดพลาดของตัวเองในการตั้งเป้าหมายในการเรียนบาลีใหม่  บางทีการเข้าใจธรรมชาติวัฏฏะ อาจสำคัญยิ่งกว่าการสอบได้เปรียญ 9 ประโยคหรือการสอบผ่านบาลีชั้นใด ๆ ก็ได้

“เรียนรู้หมื่นภาษา ไม่เท่ากับได้เรียนรู้ภาษาบาลีภาษาเดียว  เรียนจบหมื่นปริญญา ไม่เท่ากับเข้าใจพุทธธรรมบทเดียว” เป็นชาวพุทธ ควรรำลึกและถือคติเช่นนี้ไว้ 




ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม1 : Download? ( 193.55 kb )
ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม2 : Download? ( 12 kb )
ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม3 : Download? ( 12 kb )
ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม4 : Download? ( 12 kb )
ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม5 : Download? ( 12 kb )
ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม6 : Download? ( 12 kb )
ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม7 : Download? ( 12 kb )
ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม8 : Download? ( 12 kb )

เขียนเมื่อ 14 มีนาคม 2558 | อ่าน 10807
เขียนโดย นายธฤญเดชา ลิภา

 
มหาเถรสมาคม ควรสร้างมหาอุปาสิกาวิทยาลัย 18 แห่ง ในปี 2558
24/12/2557
อ่าน 5119
 
ความงดงามในเรือนจำ และ วันมหาสติปัฏฐานภาวนา
9/11/2557
อ่าน 5651
 
แนวทางสอนชาวบ้านแปลบาลีธรรมบทให้เกิดประโยชน์สูงสุด
13/10/2557
อ่าน 8915
 
ชีวิตสามเณรน้อยในประเทศไทย ลำบากและมีความเสี่ยงสูง
13/10/2557
อ่าน 4817
 
ห้องเรียนบาลีหญิงนานาชาติแห่งแรกของประเทศไทย ณ ทัณฑสถานหญิงกลางลาดยาว
24/7/2557
อ่าน 5672
 
วิธีการอ่านหนังสือหลักสูตรภาษาบาลีเบื้องต้น
5/7/2557
อ่าน 10653
 
การสอบบาลี เพื่อความมั่นคงยั่งยืนแห่งพระสัทธรรม
4/4/2557
อ่าน 6067
 
การเตรียมความพร้อมเพื่อเรียนภาษาบาลีเบื้องต้นให้ประสบความสำเร็จ
29/3/2557
อ่าน 7136
 
การเตรียมความพร้อมเพื่อเรียนบาลีไวยากรณ์ชั้นสูงให้ประสบความสำเร็จ
28/2/2557
อ่าน 8902
 
การเรียนบาลีเรียนอย่างมีความสุขและความยั่งยืนของพระสัทธรรม
5/2/2557
อ่าน 6162
 
 
ทั้งหมด 35 รายการ 2 / 4
 
 
แปลยกศัพท์ธรรมบทออนไลน์ 8 ภาค สำหรับบาลีศึกษา/ประโยค 1-2
 
โรงเรียนพระปริยัติธรรมวัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร ศึกษาภาษาบาลีออนไลน์
 
เรียนบาลีเบื้องต้น ปทรูปสิทธิ อภิธานวรรณนา ในรูปแบบ pdf html และ mp3 โดยพระมหาสมปอง มุทิโต
 
เรียนภาษาบาลีกับพระมหาประนอม ธมฺมาลงฺกาโร ผ่าน youtube ดูเป็นตอน ๆ 1- 30 ตอน
 
รวมความรู้ไวยากรณ์บาลี กัจจายนปกรณ์ ธรรมะทั่วไป และสาระบาลีต่าง ๆ
 
สำนักเรียนดีเด่น เปิดสอนบาลีสำหรับพระภิกษุสามเณรทุกชั้น ตั้งแต่ ประโยค 1-2 ถึง ป.ธ.9
 
วัดท่ามะโอ ลำปาง สำนักปฏิบัติธรรม และสำนักเรียนบาลีใหญ่
 
เพื่อการศึกษาพระธรรมจากคัมภีร์บาลี เรียนรู้ปทรูปสิทธิ
 
โครงการสร้างพระภิกษุสามเณรจากอินเดียกว่า 2,000 รูป เพื่อกลับไปฟื้นฟูพระพุทธศาสนาประเทศอินเดียในระยะยาว
 
วีดีโอสอนแปลบาลีธรรมบท ประโยค 1-2 โดย อ.กรภพ วัดพระเจ้าตนหลวง อธิบายง่าย เข้าใจง่าย
 
  ดูวีดีโออื่นๆ  
อาจารย์ปรีชา  แก้วทาสี
ปทรูปสิทธิ
  ดูทั้งหมด  
กัจจายนสูตร MP3
สนฺธิกณฺฑ ๑-๕
สนฺธิกณฺฑ ๒-๕
สนฺธิกณฺฑ ๓-๕
สนฺธิกณฺฑ ๔-๕
สนฺธิกณฺฑ ๕-๕
นามกณฺฑ ๑-๕
นามกณฺฑ ๒-๕
นามกณฺฑ ๓-๕
นามกณฺฑ ๔-๕
นามกณฺฑ ๕-๕
การกกณฺฑ ๑-๑
สมาสกณฺฑ ๑-๑
ตทฺธิตกณฺฑ ๑-๑
อาขฺยาตกณฺฑ ๑-๔
อาขฺยาตกณฺฑ ๒-๔
อาขฺยาตกณฺฑ ๓-๔
อาขฺยาตกณฺฑ ๔-๔
กิพฺพิธานกณฺฑ ๑-๕
กิพฺพิธานกณฺฑ ๒-๕
กิพฺพิธานกณฺฑ ๓-๕
กิพฺพิธานกณฺฑ ๔-๕
กิพฺพิธานกณฺฑ ๕-๕
อุณาธิกณฺฑ ๑-๑
สุตฺตสงฺคหคาถา
กจฺจายนสุตฺตปาโฐ (รวมทุกกัณฑ์)
 
 
 

มหาบาลีวิชชาลัย วัดโมลีโลกยาราม ถนนวังเดิม เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพฯ 10600
โทร. 0-2472-8147, 099-2468-986, 086-7962-617, 089-6601-464
E-mail : พัฒนาเว็บไซต์โดย สถาบันเทคโนโลยีพุทธบริษัท Developed by Buddhist Institute of Technology Thailand (BIT THAILAND)