โครงการพัฒนาพจนานุกรมบาลี ฉบับมหาบาลีวิชชาลัย (ระบบช่วยเรียนภาษาบาลีผ่านโมบายแอปพลิเคชั่น) ความเป็นมา ภาษาบาลีเป็นภาษาพุทธศาสนา เป็นภาษาที่รักษาคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ชาวพุทธไทยได้เรียนรู้ภาษาบาลี ได้สืบทอดและบอกสอนภาษาบาลีสืบต่อกันมาตั้งแต่ครั้งโบราณเมื่อคราวพระพุทธศาสนาเข้าสู่ดินแดนที่เป็นประเทศไทยนี้และได้สืบต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน กล่าวเฉพาะในส่วนพจนานุกรมภาษาบาลี ในอดีตที่ผ่านมา ได้มีผู้จัดทำพจนานุกรมภาษาบาลีหลายฉบับ หลายวัตถุประสงค์ แต่ส่วนมากเป็นพจนานุกรมสำหรับคนเรียนภาษาบาลีเท่านั้น ไม่ได้มุ่งให้คนทั่วไปที่ไม่ได้เรียนภาษาบาลีเข้าใจได้ง่าย อีกอย่างพจนานุกรมดังกล่าวส่วนมากเผยแพร่ในรูปแบบสิ่งพิมพ์เป็นหลัก ยากต่อการนำติดตัวไป ไม่สะดวกต่อค้นคว้าเทียบเคียงเท่าที่ควร เพื่อตอบสนองกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ประกอบกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสารสนเทศในปัจจุบัน มหาบาลีวิชชาลัย จึงได้จัดทำ “โครงการพัฒนาพจนานุกรมบาลี ฉบับมหาบาลีวิชชาลัย” นี้ขึ้น โดยมุ่งหวังให้เป็นพจนานุกรมบาลีที่เหมาะสำหรับบุคคลทั่วไปที่ไม่ได้เรียนภาษาบาลีและตอบสนองกลุ่มผู้เรียนภาษาบาลีด้วย เน้นให้เป็นพจนานุกรมบาลีที่มีมาตรฐาน เนื้อหากว้างขวาง ครอบคลุมคำบาลีทั้งหมดที่มีในคัมภีร์ทางพุทธศาสนา และมีการปรับปรุง (Update) ข้อมูลได้ตลอดเวลา พกพาสะดวก ค้นหาและเชื่อมโยงข้อมูลภาษาบาลีและคำแปลภาษาไทยได้อย่างรวดเร็ว วัตถุประสงค์ 1. เพื่อพัฒนาระบบช่วยเรียนรู้ภาษาบาลี โดยนำคำบาลีในคัมภีร์ต่าง ๆ เช่น ธัมมปทัฏฐกถา มังคลัตถทีปนี วิสุทธิมัคค์ปกรณ์ ฯลฯ มาแปล แสดงสัมพันธ์และวิเคราะห์คำโดยละเอียด 2. เพื่อกระตุ้นให้ชาวพุทธไทยศึกษาและเผยแผ่ความรู้ทางภาษาบาลีให้กว้างขวางยิ่งขึ้น 3. เพื่อให้เป็นเวทีแสดงความสามารถทางภาษาบาลีของชาวไทยในยุคปัจจุบันอันจะเป็นเกียรติประวัติในเบื้องหน้า ลักษณะพจนานุกรม (ผสมผสาน พจนานุกรม สารานุกรม สัททานุกรม เพื่อให้เรียนรู้บาลีได้เร็วและง่าย) ก. เนื้อหาในระบบที่พัฒนาขึ้น 1. แสดงผลคำบาลีทั้งหมดที่ปรากฏในคัมภีร์นั้น ๆ 2. วิเคราะห์รายคำ ตามชนิดของคำ 2.1 คำกิริยา แยก ธาตุ ปัจจัย วิภัตติ อาคม กาล บท วจนะ บุรุษ ฯลฯ 2.2 คำนาม 2.2.1 บอกประเภท ลิงค์ การันต์ ปทมาลา วิภัตติ ที่มา (รากที่ปรุงมา/วิเคราะห์) ฯลฯ -จุดแตกต่างใน 3 คัมภีร์ไวยากรณ์ดั้งเดิม (ถ้ามี) -บอกรูปคำที่ผันรูปมาใช้ในภาษาไทยปัจจุบัน (ถ้ามี) เช่น ปูรณํ - บูรณะ/บูรณ์ 2.2.2 นามเฉพาะ เช่น ชื่อคน เมือง สถานที่ต่าง ๆ จะต้องเก็บข้อมูลมาเติมให้ได้รายละเอียดพอควร คน เช่น อนาถปิณฺฑิโก เป็นใคร เกิดเมื่อไหร่ ที่ไหน ตระกูล ผลงาน กิจกรรม ครอบครัว วาระสุดท้ายของชีวิต สิ่ง/เครื่องหมายที่สื่อถึง (ในปัจจุบัน เช่น อนุสาวรีย์ หลักฐานคัมภีร์ จารึก รูปปั้น สถานที่ เช่น โกสมฺพี ชื่อเดิม ภูมิศาสตร์ (สมัยพระพุทธเจ้า-ปัจจุบัน) แผนที่จาก Google Map แนวขอบเขต ระบบการปกครอง ผู้ปกครองเด่น ๆ ในแต่ละยุค ความสัมพันธ์กับเมืองอื่น ๆ ในช่วงที่พระพุทธองค์ทรงพระชนม์อยุ่ สัตว์ เช่น นาฬาคีรี เทวดา เช่น สักกะ ต้นไม้ เช่น ต้นกากะทิง 3. เชื่อมโยงคำทั้งหมดและแสดงสถิติคำที่ปรากฎทั้งหมด 4. มีระบบค้นหาที่แม่นยำและรวดเร็ว พร้อมแสดงคำที่เกี่ยวข้อง 5. เตรียมการรองรับภาษาอื่น ๆ นอกจากภาษาไทย ด้วย ได้แก่ อังกฤษ พม่า ลาว เขมร เวียดนาม และสิงหฬ ข.ระบบการทำงาน ในเบื้องต้นเป็น Mobile Application ใช้งานได้บน iOS 8-9 ขึ้นไป และ Android4-6 ขึ้นไป และระยะต่อไปจะพิมพ์เป็นเล่มเผยแพร่ต่างหาก แผนการทำงานและระยะพัฒนาเวลา (20 ปี) 1. ระยะที่ 1 พ.ศ. 2558-2562 (5 ปี) ตำราเรียนบาลีของพระภิกษุสามเณรระดับชั้นเปรียญธรรม 1-9 ประโยค 2. ระยะที่ 2 พ.ศ. 2563-2578 (15 ปี) พระไตรปิฎกบาลี อรรถกถา ฎีกา และสัททาวิเสส ทั้งหมดที่มี หมายเหตุ เมื่อผ่านพ้นปีที่ 1 (2558) คณะทำงานจะพิจารณาว่า จะนำคัมภีร์ในระยะที่ 2 มาพัฒนาควบคู่กันไปได้เลยหรือไม่ (โดยเพิ่มคณะทำงานและวิธีการอื่น ๆ) คัมภีร์บาลีที่นำเข้าสู่ระบบ ในระยะเริ่มต้น จะนำคัมภีร์ที่เป็นตำราเรียนภาษาบาลีของพระภิกษุสามเณรเปรียญ 1-9 เข้าสู่ระบบ เพื่อการพัฒนาพจนานุกรม ตามแผนในระยะที่ 1 ในปีแรก (2558) คือพระธัมมปทัฏฐกถา หรืออรรถกถาพระธรรมบททั้ง 8 ภาค ซึ่งเป็นตำราเรียนบาลีขั้นพื้นฐานของคณะสงฆ์ไทย ใช้สำหรับเรียนแปลบาลี-ไทย สัมพันธ์ไทย ในบาลีสนามหลวงชั้นประโยค 1-2-3 เนื้อเรื่องในพระธรรมบทประกอบด้วยตำนาน เรื่องเล่า นิทาน เรื่องราวและประวัติของชุมชน ท้องถิ่น และบุคคลต่าง ๆ มีพุทธธรรมภาษิตที่ตรัสสอนบุคคลต่าง ๆ มากมาย การศึกษาภาษาบาลีผ่านพระธรรมบท จะสามารถน้อมนำให้ผู้ศึกษาพุทธศาสนาเกิดศรัทธาในพระธรรมและเกิดความซาบซึ้งได้อย่างง่ายดาย งานที่จะต้องทำในโครงการ 1. วิเคราะห์คำศัพท์ทุกชนิด (คำที่มีอยู่ และตัดคำจากบทสมาส ตัทธิต หรืออื่น ๆ มาอธิบายความเสริม) 2. แจกปทมาลาคำนาม 3. แปล (ยกศัพท์ /โดยพยัญชนะ/โดยอรรถ) 4. สัมพันธ์คำศัพท์ทุกคำ 5. เพิ่มเติมเนื้อหาสำคัญ ๆ ของคำเฉพาะต่าง ๆ 6. ตรวจสอบการสะกด มาตรฐานสำนวน การเชื่อมโยง และสถิติต่าง ๆ 7. เรียบเรียงคำศัพท์เฉพาะในแวดวงบาลี (Technical Term of Grammar) แนวการอ้างอิงและภาษา 1. ใช้แนวบาลีเดิมคือ กัจจายนะ โมคคัลลานะและสัททนีติปกรณ์ เป็นหลัก (คณะทำงานจะสรุปตกลงในชื่อที่เรียกต่างกันในคัมภีร์ต่าง ๆ อีกที) 2. สำนวนภาษาที่ใช้ ภาษาสำนวนมาตรฐาน และสื่อให้คนทั่วไปเข้าใจได้ การทำงาน 1. ประชุมคณะทำงานร่วมกันทุกเดือน ๆ ละ 2 ครั้งเป็นอย่างน้อยใน 4 เดือนแรก และเดือนละครั้งเป็นอย่างน้อย ตั้งแต่เดือนที่ 5 เป็นต้นไป 2. การกรอกข้อมูล ทำงานผ่านอินเตอร์เนตเป็นหลัก (แปล สัมพันธ์ วิเคราะห์ศัพท์ ฯลฯ ผ่านคอมพิวเตอร์จากที่พักของตนเอง) 3. มีตัวชี้วัดความคืบหน้าในการทำงาน เช่นแสดงข้อมูลว่า มีศัพท์ทั้งหมดในระบบเท่าไหร่ วิเคราะห์ไปแล้วเท่าไหร่ เหลือเท่าไหร่ ใครกำลังทำเรื่องอะไรอยู่ 4. ประสานงานที่สำนักงานและผ่านเครือข่ายออนไลน์ กลุ่มพจนานุกรม สิ่งที่คณะทำงานจะได้รับ 1. คอมพิวเตอร์พร้อมซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์ 1 เครื่อง ประมาณ 48,000 บาท 2. ผ้าไตรจีวร 1 ชุด 3. ค่าเชื่อมต่ออินเตอร์เนต เดือนละ 600 บาท 4. ค่าพาหนะในการเดินทางประชุม ครั้งละ 1,200 บาท 5. นิตยภัตร ปีละ 60,000 บาท (หมายเหตุ ช่วงแรก ยังไม่มีอะไรให้/แต่ควรมี เพื่อให้งานเดินหน้าได้เร็ว/โครงการต้องการเจ้าภาพอุปถัมภ์ในส่วนการดำเนินงานนี้เป็นงบประมาณ 5 ล้านบาทใน 5 ปีแรก และเพิ่มจำนวนมากขึ้นเมื่อพัฒนาคัมภีร์อืน ๆ ต่อไป ผู้มีกำลังและศรัทธาเชิญติดต่ออุปถัมภ์โครงการได้เลย) ผู้อุปถัมภ์โครงการ (ในส่วนการพัฒนา Application) คุณวิศาล เอกวานิช จังหวัดภูเก็ต คณะทำงานพัฒนาพจนานุกรม (ไม่เกิน 25 ท่าน/ในระยะแรก) 1. ประธานคณะพัฒนาพจนานุกรม พระราชปริยัติโมลี 1. ประธานฝ่ายวิชาการ พระมหาญาณธวัช ญาณทฺธโช 2. ผู้จัดการโครงการ นายธฤญเดชา ลิภา 3. เลขานุการและผู้ช่วย 3 ท่าน 4. กรรมการทำงาน 14 ท่าน หมายเหตุ ข้อมูล พร้อมภาพถ่ายและคลิปวีดีโอรายบุคคลของคณะทำงาน และผู้อุปถัมภ์โครงการ จะได้รับการบันทึกไว้ในพจนานุกรมบาลีฉบับนี้ เพื่อเป็นเกียรติประวัติตลอดไป สำนักงานโครงการพัฒนาพจนานุกรมบาลี มหาบาลีวิชชาลัย มหาบาลีวิชชาลัย วัดโมลีโลกยาราม ราชวรวิหาร ถนนอรุณอมรินทร์ แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร โทร. 0-2472-8147, 099-2468-986, 089-6601-464 เวบไซต์ www.mahapali.com เฟสบุ๊ค https://www.facebook.com/mahapaliclub ทวิตเตอร์ https://twitter.com/mahapali